ดาวเนปจูน

(Neptune)

 

ดาวเนปจูนเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ไกลจากดวงอาทิตย์ที่สุดตามนิยามดาวเคราะห์ใหม่ที่ไม่จัดดาวพลูโตเป็นดาวเคราะห์ ดาวดวงนี้ถูกค้นพบครั้งแรกด้วยการคำนวณทางคณิตศาสตร์ เนื่องมาจากมีเหตุการณ์ที่วงโคจรของดาวยูเรนัสมีความผิดปรกติ นักวิทยาศาสตร์จึงสงสัยว่า จะต้องมีดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ที่มีแรงดึงดูดสูงพอที่จะเปลี่ยนเส้นทางการโคจรของดาวยูเรนัสได้ ผลที่ได้ก็คือ การค้นพบดาวเนปจูนโดยนักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศสชื่อ เออร์เบน โจเซฟ ลี เวอเลียร์ (Urbain Joseph Le Verrier) เป็นผู้คำนวณและส่งผลไปไห้นักดาราศาสตร์เยอรมันชื่อ โจฮัน ก็อทฟรีด กาลล์ (Johann Gotfried Galle) เพื่อส่องกล้องหาดาวเคราะห์ตามตำแหน่งที่ได้คำนวณไว้ ซึ่งเขาสามารถพบดาวเนปจูนในคืนแรกของการสำรวจ ดาวเนปจูนมีสีน้ำเงินเข้มซึ่งเกิดจากมีเทนและธาตุอื่นซึ่งยังไม่เป็นที่เข้าใจของนักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน สนามแม่เหล็กของดาวเนปจูนมีลักษณะแปลกเช่นเดียวกับดาวยูเรนัสคือมีแกนสนามแม่เหล็กเอียงออกมาจากแกนการหมุนรอบตัวเองถึง 47 องศา และมีสภาพสนามแม่เหล็กที่ซับซ้อน ขณะนี้เราค้นพบดาวบริวารของดาวเนปจูนจำนวน 13 ดวง ดาวบริวารที่ใหญ่ที่สุดของดาวเนปจูน คือ  ไทรทัน (Triton) ซึ่งเป็นวัตถุที่เย็นที่สุดเท่าที่เคยพบมาในระบบสุริยะ (อุณหภูมิผิวประมาณ -235 องศาเซลเซียส)

 

รูปดาวเนปจูน

ถ่ายโดยยานอวกาศ Voyager 2

 

 

ตารางแสดงข้อมูลที่สำคัญของดาวเนปจูน

ค้นพบโดย โจฮัน ก็อทฟรีด กาลล์ (Johann Gotfried Galle)
ระยะทางโดยเฉลี่ยจากดวงอาทิตย์ 4,498,252,900 km
ระยะทางใกล้ที่สุดจากดวงอาทิตย์ 4,459,630,000 km
ระยะทางไกลที่สุดจากดวงอาทิตย์ 4,536,870,000 km
รัศมีบริเวณเส้นศูนย์สูตร

24,764 km

เส้นรอบวงบริเวณเส้นศูนย์สูตร

155,597 km
ปริมาตร 62,526,000,000,000 km3
มวล 102,440,000,000,000,000,000,000,000 kg
ความหนาแน่นเฉลี่ย 1.76 g/cm3
ค่าความรีของวงโคจร 0.00859
อุณหภูมิยังผล -214 °C

 

 

อ้างอิง

-    เว็บไซด์ http://solarsystem.nasa.gov/planets/index.cfm

-    เว็บไซด์ http://www.iau.org/iau0602.423.0.html

-    Presentation ประกอบการสอนโรงเรียนจิตรลดาของ ศ.ดร. เดวิด รูฟโฟโล

-    Jeffrey Bennett, Megan Donahue, Nicholas Schneider and Mark Voit, The essential COSMIC PERSPECTIVE, 3rd edition, Addison Wesley, USA, 2005