เดือนมีนาคม 2550

March 2007

 

ซากการชนของเทหวัตถุยักษ์เหลืออยู่ใกล้ๆ ดาวเนปจูน

Giant Remnants of Cosmic Collision Found Beyond Neptune

 

March 23rd, 2007

Adapted from : www.space.com

 

เทหวัตถุสีเทาสว่างที่ลอยตัวอยู่บริเวณชายขอบของระบบสุริยะ แท้จริงอาจเป็นซากที่หลงเหลืออยู่จากการชนของเทหวัตถุขนาดใหญ่สองดวง ซึ่งดวงหนึ่งมีขนาดพอๆ กับดาวเคราะห์แคระพลูโต (Pluto) และอาจมีสักวันหนึ่งก้อนหินขนาดยักษ์เหล่านั้นจะตัดผ่านวงโคจรของดาวเนปจูนและกลายเป็นดาวหางขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยรู้จัก

แถบเข็มขัดคุยเปอร์ถัดจากวงโคจรของดาวเนปจูน โดยมีพลูโตเป็นสมาชิกของเทหวัตถุในแถบเข็มขัดนี้

Credit : http://diva.mporzio.astro.it/webdiva/Links/linksimg/Kuiper_belt.gif

เทหวัตถุที่หลงเหลือจากการชนดังกล่าว ถูกพบในแถบเข็มขัดคุยเปอร์ (Kuiper Belt) และช่วยให้มุมมองใหม่ต่อประวัติศาสตร์อันมืดมนของระบบสุริยะ

แถบเข็มขัดคุยเปอร์ คือ แถบของหินและน้ำแข็งที่อยู่ถัดจากวงโคจรของดาวเนปจูนออกไปเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งเชื่อกันว่ามันเป็นส่วนที่หลงเหลืออยู่ของแถบมวลสารดึกดำบรรพ์ที่เป็นแหล่งกำเนิดของดาวเคราะห์นั่นเอง

2003EL61 เป็นดาวเคราะห์แคระที่อยู่ในแถบ Kuiper Belt มีขนาดครึ่งหนึ่งของดาวพลูโตและมีรูปร่างเหมือนลูกอเมริกันฟุตบอล

Credit : NASA, ESA, and A. Feild (STScI)

เทหวัตถุต้นกำเนิดคือ 2003EL61 ซึ่งเป็นหนึ่งในเทหวัตถุขนาดใหญ่ที่สุดในแถบคุยเปอร์ โดยมีรูปร่างเหมือนลูกอเมริกันฟุตบอลขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1,500 กิโลเมตร  เพียงแต่มีความกลมและมีขนาดใหญ่กว่าขนาดหลังชนร้อยละ 20 ในขณะที่พลูโตมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2,300 กิโลเมตร

นักวิทยาศาสตร์คาดว่า 2003EL61 ชนกับวัตถุอีกก้อนหนึ่งที่มีขนาดประมาณอย่างหยาบ ๆ ครึ่งหนึ่งของตัวมันเอง และเคลื่อนที่ด้วยอัตราเร็วประมาณ 1126 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พลังงานที่เกิดจากการชนจึงเท่ากับพลานุภาพของระเบิดนิวเคลียร์ 10,000 ล้านลูก ซึ่งทำให้เศษน้ำแข็งขนาดยักษ์แตกออกจาก 2003EL61 แล้วกระจายออกสู่อวกาศ   ทิ้งให้ส่วนที่เหลือลอยเคว้งขว้าง  หมุนรอบตัวเองด้วยเวลาประมาณ 4 ชั่วโมง  ซึ่งนับว่าเร็วมากจนทำให้มันมีรูปร่างเหมือนลูกอเมริกันฟุตบอลนั่นเอง

วงโคจรของ 2003EL61 วงกลมสีดำคือวงโคจรของดาวเนปจูน

Credit : http://www.biathlon.net/Astrophotography/EL61_index.html

การชนครั้งนั้นยังทำให้เกิดเทหวัตถุหินอีกอย่างน้อย 7 ดวง ซึ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 10 ถึง 400 กิโลเมตร นักวิจัยรวบรวมวัตถุที่กระจัดกระจายออกมาเหล่านั้นจัดเป็นกลุ่มวัตถุใหม่ โดยมีเกณฑ์ว่าเป็นวัตถุสีเทาและถูกตรวจพบน้ำแข็งบนผิววัตถุด้วยภาพถ่ายสเปคตรัม ในขณะที่วัตถุที่เหลือในแถบคุยเปอร์ไม่ได้สว่างและเก่าแก่เท่าพวกมัน ปัจจุบันมีเทหวัตถุที่เกิดจากการชนและมีคุณสมบัติเช่นว่านั้น ถูกค้นพบแล้ว 35 ก้อน แต่ทุกก้อนล้วนอยู่ในแถบดาวเคราะห์น้อย(Asteroid Belt) ซึ่งอยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี

งานวิจัยชิ้นนี้นับเป็นหลักไมล์สำคัญในการช่วยนักดาราศาสตร์สามารถสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับการชนในระดับที่รุนแรง ซึ่งทำให้เกิดเทหวัตถุอย่างดวงจันทร์และระบบดาวเคราะห์แคระพลูโต-ชารอน เนื่องจากการชนของเทหวัตถุขนาดใหญ่ในระบบสุริยะนั้นพบได้ไม่บ่อยนัก นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ว่า ดาวหาง อาจเกิดจากการชนในลักษณะนี้ โดยเฉพาะ 2003EL61 อาจเคลื่อนตัดผ่านวงโคจรของดาวเนปจูนเข้าสู่ระบบสุริยะชั้นในและกลายเป็นดาวหางในอีกประมาณ 1000 ล้านปีข้างหน้า

 

 

เรีบเรียงโดย : วัชราวุฒิ หน่อแก้ว ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

----------------------------------------------------------

 

สระน้ำใต้ดินยักษ์ที่ขั้วใต้ดาวอังคาร

Giant Pool of Water Ice at Mars' South Pole

 

March 23rd, 2007

Adapted from : www.space.com

 

นับแต่การค้นพบแผ่นน้ำแข็งทั้งขั้วเหนือและใต้ของดาวอังคารเมื่อต้นทศวรรษที่ 70 จนบัดนี้การสำรวจขั้วน้ำแข็งดังกล่าวยังเป็นเรื่องยากสำหรับอุปกรณ์อย่างกล้องโทรทรรศน์และดาวเทียมที่ส่งไปโคจรรอบดาวอังคาร

Jeffrey Plaut จากศูนย์วิจัยเครื่องยนต์ไอพ่นขับดัน (Jet Propulsion Laboratory) ของนาซา กล่าวว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่ระบบสำรวจใต้ผิวดินถูกใช้สำหรับดาวอังคาร” “อุปกรณ์ที่ใช้สำรวจผิวดาวอังคารก่อนหน้านี้ ล้วนตรวจวัดแต่สิ่งที่อยู่บนผิวดินชั้นบนเท่านั้น”

แผนที่ภูมิประเทศบริเวณขั้วใต้ของดาวอังคาร

Credit : NASA/JPL/ASI/ESA/University of Rome/MOLA Science Team/USGS

Plaut    และทีมวิจัยใช้หลักการสะท้อนของคลื่นเรดาร์    เพื่อสำรวจลึกลงไปในผิวดินดาวอังคารแบบเดียวกับที่ใช้สำรวจด้านในของภูเขาน้ำแข็งบนโลก   อุปกรณ์ดังกล่าวเรียกว่า Mars Advanced Radar for Subsurface and Ionospheric หรือ MARSIS ที่ติดตั้งบนยาน MARS Express ขององค์การอวกาศยุโรป ทำงานด้วยการยิงลำคลื่นวิทยุซึ่งจะทะลุผ่านเข้าไปในผิวดาวเคราะห์สีสนิม  คลื่นที่ไปชนกับสิ่งที่อยู่ภายใต้ผิวดินก็จะให้สัญญาณทางไฟฟ้าแตกต่างกัน ผลการวิเคราะห์ลำคลื่นวิทยุที่สะท้อนออกมาพบว่ามากกว่าร้อยละ 90 ของสสารภายในขั้วน้ำแข็งเป็นน้ำบริสุทธิ์ในสภาพของแข็งและมีฝุ่นผงปะปนอยู่อย่างกระจัดกระจาย ทั้งหมดอยู่ลึกลงไปใต้ผิวน้ำแข็งขั้วใต้ของดาวอังคารประมาณ 4 กิโลเมต ร โดยปริมาณน้ำที่พบคาดว่าเมื่อละลายออกมาอาจทำให้เกิดมหาสมุทรลึก 36 ฟุต ทั่วทั้งดาวอังคาร

แผนที่ที่สร้างจากคลื่นเรดาร์แสดงความหนาของแผ่นน้ำแข็งขั้วใต้ สีม่วงคือมีความหนาไม่มาก

ส่วนสีแดงคือแผ่นน้ำแข็งหนาขึ้น วงกลมสีดำคือวงกลมที่ล้อมรอบละติจูด 87 ถึง 90 องศาใต้

Credit : NASA/JPL/ASI/ESA/University of Rome/MOLA Science Team/USGS

อย่างไรก็ตามแม้ว่าน้ำที่พบจะเป็นปริมาณมหาศาลดังที่กล่าวมาแล้ว ทว่าก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดระบบกระแสน้ำที่สอดคล้องกับร่องรอยระบบกระแสของไหลบนดาวอังคาร อย่างน้อยก็ 10 – 100 เท่าของปริมาณน้ำที่พึ่งค้นพบ คำถามต่อไปก็คือ แล้วน้ำที่เหลือหายไปไหน? แนวคิดหนึ่งคือน้ำที่เหลืออยู่ในระบบทางน้ำใต้ดินของดาวอังคารนั่นเอง และนี่ก็เป็นเป้าหมายต่อไปของ Plaut และชาวคณะ รวมทั้งการสำรวจขั้วเหนือที่เชื่อกันว่ามีน้ำแข็งปริมาณมหาศาลอยู่ด้วยคลื่นเรดาร์นี่ด้วย

แม้ว่าการทำให้ดาวอังคารเจิ่งนองไปด้วยน้ำจะยังไม่เกิดขึ้นภายในอนาคตอันใกล้ แต่นักวิทยาศาสตร์มั่นใจว่าในอดีตอันไกล ราว ๆ พันล้านปีก่อนดาวอังคารมีน้ำไหลเวียนบนผิวดาวอย่างแน่นอน

แผนภาพแสดงการเกิดยุคน้ำแข็งบนดาวอังคารหากแกนหมุนเอียงกับระนาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์มากๆ

Credit : T.Schindler/National Science Foundation

นักวิทยาศาสตร์คิดว่าการแปรเปลี่ยนของวงโคจรและมุมเอียง ทำให้สภาพอุตุนิยมของดาวอังคารเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา  อย่างเช่นการเกิดยุคน้ำแข็งบนดาวอังคาร อีกปัจจัยหนึ่งคืออิทธิพลจากดวงอาทิตย์อาจมีส่วนต่อการที่ดาวเคราะห์หลายดวงในระบบสุริยะมีอุณหภูมิพื้นผิวสูงขึ้น นั่นหมายความว่า หากสภาพอากาศของดาวอังคารร้อนขึ้น จะทำให้น้ำแข็งใต้ผิวดาวอังคารละลายแล้วถูกพ่นออกมาคล้ายภูเขาไฟบนโลก อย่างไรก็ดีหลักฐานจากเรดาร์กลับบอกว่าเปลือกดาวอังคารยังคงเย็นและแข็งอยู่มาก

 

 

เรีบเรียงโดย : วัชราวุฒิ หน่อแก้ว ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

----------------------------------------------------------

 

กาแลกซีใหญ่ ๆ แท้จริงเล็กกว่าและอยู่ใกล้กว่าที่คิด

Oops! Huge Distant Galaxy Actually Small and Close

 

March 23rd, 2007

Adapted from : www.space.com

 

เมื่อนักดาราศาสตร์คงไม่เชื่อสายตาตัวเองเป็นแน่เมื่อครั้งหนึ่งสิ่งที่พวกเขาคิดว่าเป็นการค้นพบกาแลกซีขนาดใหญ่ที่อยู่ไกลแสนไกล เมื่อ 23 ปีก่อน แท้จริงแล้วกลับกลายเป็นเพียงกาแลกซีแคระ

กาแลกซี NGC5011C เป็นกาแลกซีหนึ่งที่อยู่ใกล้กับกาแลกซีทางช้างเผือก วางตัวในทิศทางกลุ่มดาวคนครึ่งม้า (Centaurus) หนึ่งในกลุ่มดาวที่ใหญ่ที่สุดในท้องฟ้าซีกใต้ เนื่องจากการที่บริเวณดังกล่าวมีประมาณดาวน้อยมาก และแทบไม่มีเทหวัตถุอื่น ๆ เลย นักวิจัยจึงมักจะพบกาแลกซีทรงรีแคระ (Dwarf Elliptical) ซึ่งจัดเป็นกาแลกซีที่มีความสว่างต่ำ มีปริมาณก๊าซและฝุ่นน้อยมาก แต่มีดาวฤกษ์อายุมากเป็นส่วนใหญ่

กาแลกซี NGC 5011B (บน) และ NGC5011C (กาแลกซีสีน้ำเงินด้านล่าง)

Credit : ESO

อย่างไรก็ตามเป็นเวลาหลายปีทีเดียวที่นักวิทยาศาสตร์คิดว่า NGC5011C อยู่ภายในกระจุกกาแลกซี Centaurus ซึ่งอยู่ห่างจากโลก 155 ล้านปีแสง หรือใกล้กับ NGC5011B ซึ่งจัดเป็นกาแลกซีคู่หูสีแดงสุกสว่างแห่งหนึ่ง ดังนั้น NGC5011C จึงถูกนับเป็นกาแลกซียักษ์ที่อยู่ห่างไกลออกไป

กาแลกซีส่วนใหญ่ประกอบด้วยดาวฤกษ์ ก๊าซ ฝุ่น และสสารมืด ที่เกาะกลุ่มกันอยู่ด้วยแรงโน้มถ่วง โดยทั่วไปกาแลกซีมักถูกพบอยู่ในลักษณะของกาแลกซีคู่ หรืออยู่กันเป็นกลุ่ม จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ NGC5011C กับ NGC5011B จะถูกจับให้เป็นกาแลกซีคู่หูกัน

แต่ด้วยข้อมูลใหม่จากกล้องโทรทรรศน์ ESO (European Southern Observatory) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.6 เมตร ซึ่งทำการวัด Red Shifts ภายในสเปคตรัมจากกาแลกซีทั้งสอง และพบว่าพวกมันไม่ได้อยู่ใกล้กันแต่อย่างใด โดย NGC5011C อยู่ห่างจากกาแลกซีของเราออกไป 13 ล้านปีแสง ขณะที่ ส่วน NGC5011B อยู่ในกระจุกกาแลกซี Centaurus ที่ห่างออกไกลออกไปถึง 12 เท่า

แสดงการเลื่อนของแถบสเปคตรัมไปทางสีแดงเมื่อกาแลกซีเคลื่อนห่างออกจากโลก

Credit : http://encyclopedia.farlex.com/_/viewer.aspx?path=hut&name=c02207.jpg

Red Shifts  เกิดขึ้นเมื่อเทหวัตถุเป้าหมายเคลื่อนที่ออกห่างจากผู้สังเกตบนโลก  ดังนั้นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เปล่งออกมาจากวัตถุดังกล่าวจะยืดยาวขึ้นเมื่อคลื่นดังกล่าวเดินทางมาถึงโลก และปรากฏให้เห็นในภาพถ่ายสเปคตรัมที่ถ่ายได้ผลต่างความยาวคลื่นที่วัดได้กับความยาวคลื่นปกติในห้องทดลองจะเป็นตัวบอก Red Shifts ซึ่งสามารถใช้บ่งชี้ระยะทางของวัตถุเป้าหมายได้

นักดาราศาสตร์พบว่า NGC5011C มีมวลเท่ากับดวงอาทิตย์เพียง 10 ล้านดวง และนั่นทำให้มันเป็นเพียงแค่กาแลกซีแคระเท่านั้น

กลุ่มท้องถิ่นของกาแลกซีที่มีทางช้างเผือกอยู่ในสังกัด

Credit : http://people.brandeis.edu/~wardle/ch8/chapter-8.html

NGC5011C วางตัวอยู่ภายนอกกลุ่มท้องถิ่น (Local Group) ที่เป็นกลุ่มของกาแลกซี 30 กาแลกซี โดยกาแลกซีทางช้างเผือกของเราก็รวมอยู่ด้วย การสังเกตการณ์ NGC5011C ถือเป็นการเปิดมุมมองต่อเอกภพขณะที่เอกภพมีอายุประมาณ 14,000 ล้านปี หรือร้อยละ 95 ของอายุปัจจุบัน

 

 

เรีบเรียงโดย : วัชราวุฒิ หน่อแก้ว ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

----------------------------------------------------------

 

กระจุกดาวทรงกลมใหม่ของทางช้างเผือก

New Family of Stars Found in Milky Way

 

March 22nd, 2007

Adapted from : www.space.com

 

ภาพถ่ายใหม่เปิดเผยภาพกระจุกดาวปริศนาจำนวนมากภายในส่วนลึกของกาแลกซีทางช้างเผือก

กลุ่มดาวฤกษ์ที่เกาะกลุ่มกันอย่างใกล้ชิดนี้ ประกอบด้วยดาวฤกษ์ประมาณ 100,000 ดวง และอยู่ห่างจากโลก 30,000 ปีแสง ถูกค้นพบด้วยกล้องโทรทรรศน์ New Technology Telescope (NTT) ณ หอสังเกตการณ์ European Southern Observatory ที่ La Silla ประเทศชิลี

กระจุกดาวทรงกลม (Globular Cluster) โดยทั่วไปมักถูกค้นพบบริเวณ Halo ของกาแลกซีหรือบริเวณด้านบนและล่างของระนาบกาแลกซี

Credit : http://www.science-frontiers.com/sf066/p066-03.gif

การค้นพบนี้เป็นส่วนหนึ่งของการค้นหากระจุกดาวทรงกลม (Globular Cluster) ภายในระนาบกาแลกซี อันเป็นปริมณฑลรูปแผ่นจานแบนๆ ที่อุดมไปด้วยดาวฤกษ์จำนวนมาก กระจุกดาวทรงกลมเป็นกลุ่มดาวฤกษ์ที่ยึดโยงกันไว้ห่างๆ ด้วยแรงโน้มถ่วง จนมีรูปร่าง เป็นทรงกลมสมมาตร ดาวฤกษ์ภายในกระจุกดาวเดียวกันมักเกิดในช่วงเวลาและมวลสารกลุ่มเดียวกัน โดยทั่วไปกระจุกดาวทรงกลมถูกพบบริเวณ Halo หรือบริเวณด้านบนและล่างขอบระนาบกาแลกซี ซึ่งสามารถค้นพบได้ง่าย แต่สำหรับกระจุกดาวที่อยู่ภายในระนาบมักถูกห่อหุ้มด้วยเมฆก๊าซและฝุ่นความหนาแน่นสูงภายในทางช้างเผือกดังนั้นจึงมีเพียงการแผ่รังสีอินฟราเรดเท่านั้นที่สามารถหลุดรอดเมฆเหล่านั้นออกมาให้นักวิทยาศาสตร์ตรวจวัดด้วยเครื่องมือที่ออกแบบมาสำหรับรับสัญญาณในคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความยาวคลื่นสูงชนิดนี้

ภาพกระจุกดาวทรงกลม FSR1735 บริเวณที่เป็นกระจุกคืออาณาบริเวณวงกลมที่มีดาวฤกษ์จำนวนมากและความสว่างสูงบริเวณกลางภาพ

Credit : Henri Boffin, ESO

หลังจากทราบตำแหน่งของกระจุกดาวนับโหลจากโครงการ Near-Infrared Two Micron All Sky Survey (2MASS) คณะนักดาราศาสตร์ถ่ายภาพกระจุกดาวเหล่านั้นด้วยแผ่นกรองแสงรังสีอินฟราเรดใกล้ (Near-Infrared) สามความยาวคลื่น ซึ่งให้ความแม่นยำมากกว่าภาพถ่ายจากโครงการ 2MASS เองนับสิบเท่า

กระจุกดาวทรงกลมที่อยู่นอกระนาบกาแลกซีสามารถค้นหาได้ง่ายเนื่องจากไม่มีฝุ่นหรือก๊าซในระนาบกาแลกซีบดบัง

แต่สำหรับกระจุกดาวภายในระนาบจำเป็นต้องสำรวจในย่านรังสีอินฟราเรดที่สามารถทะลุทะลวงกลุ่มฝุ่นก๊าซเหล่านั้นได้

Credit : http://www.pparc.ac.uk/ps/aac/images/18208.jpg

ผลที่ได้คือบริเวณใกล้ใจกลางกาแลกซีทางช้างเผือกอาจประกอบด้วยกระจุกดาวทรงกลมที่ยังไม่เคยพบประมาณ 10 กระจุกดาว หนึ่งงในนั้นคือ FSR1735 กระจุกดาวทรงกลมดวงใหม่ซึ่งดูเหมือนว่าถูกห่มคลุมด้วยเมฆฝุ่นและก๊าซ ซึ่งมีมวลรวมประมาณ 65,000 เท่าของมวลดวงอาทิตย์ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 7 ปีแสง

ในกาแลกซีทางช้างเผือก นักวิทยาศาสตร์ค้นพบกระจุกดาวทรงกลมแล้ว 150 ดวง กระจุกดาวบางแห่งมีอายุมากและเป็นสิ่งหลงเหลือจากยุคเริ่มแรกของเอกภพ ซึ่งนับเป็นหลักฐานสำคัญในการสืบค้นเรื่องราวของเอกภพในยุคเริ่มต้นเลยทีเดียว เพราะเหตุว่าการชนกันของกาแลกซี การดูดกลืนกาแลกซีเล็กโดยกาแลกซีขนาดใหญ่กว่า เช่นเดียวกับการหลอมรวมกันของกาแลกซีล้วนทิ้งร่องรอยเอาไว้ในกระจุกดาวทรงกลมของกาแลกซีใด ๆ ดังนั้นการศึกษากระจุกดาวก็คือการสืบค้นรูปแบบและวิวัฒนาการของกาแลกซีนั่นเอง

 

 

เรีบเรียงโดย : วัชราวุฒิ หน่อแก้ว ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

----------------------------------------------------------

 

ดวงอาทิตย์ทารก

Sun's Baby Twin Spotted

 

March 20th, 2007

Adapted from : www.space.com

 

Jeffrey Linsky แห่ง JILA สถาบันความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยแห่งโคโลราโดกับ National of Standards and Technology และทีมงานของเขา ใช้กล้องโทรทรรศน์รังสีเอกซ์จันทราในการค้นหาแหล่งกำเนิดดาวฤกษ์ภายในเนบิวลานกอินทรี (Eagle Nebula) อันเป็นกลุ่มก๊าซที่อยู่ห่างจากโลก 7,000 ปีแสง ที่มีร่องรอยรูปร่างคล้ายเสาก๊าซขนาดยักษ์ที่เรียกว่า Pillars of Creation กลุ่มก๊าซเหล่านี้นับเป็นหน่ออ่อนสำหรับการกำเนิดดาวฤกษ์รุ่นใหม่ ซึ่งบางระบบอาจกลายเป็นคู่แฝดของดวงอาทิตย์ได้

Pillars of Creation ภายในเนบิวลานกอินทรี

Credit :Hubble/NASA/ASU/J.Hester, P. Scowen

รูปร่างอันแปลกตาของ Pillars of Creation เกิดจากก๊าซและฝุ่นที่ถูกรังสีอัลตราไวโอเลตจากดาวฤกษ์ที่หนีออกมาจากกลุ่มก๊าซดังกล่าวช่วยกันสลักเสลาให้เกิดรูปร่างพิสดารคล้ายเสายักษ์ในห้วงอวกาศ

คณะนักดาราศาสตร์จับภาพ ดาวฤกษ์ในช่วงแรกๆ ของการวิวัฒนาการก่อนจะกลายเป็นดาวฤกษ์เต็มวัยอย่างดวงอาทิตย์ของเรา ดาวทารักดังกล่าวเป็นเทหวัตถุที่ค้นพบได้ไม่บ่อยครั้งนัก หนึ่งนั้นคือ E42 อันเป็นวัตถุชนิด Evaporating Gas Globule(EGG) EGG คือกระจุกก๊าซระหว่างดาวฤกษ์ที่เกาะกลุ่มกันอย่างหนาแน่น และมีแนวโน้มว่าจะรวมตัวกันเป็นดาวฤกษ์ โดย EGG บางส่วนมีมวลขนาดพอๆ กับดวงอาทิตย์ และอยู่ภายในสภาพแวดล้อมที่แปรปรวนรุนแรงซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีการกำเนิดชีวิตบนโลกอีกด้วย

แสดงตำแหน่งของ E42 ภายใน Pillars of Creations

Credit : NASA/ESA/STScI, J. Hester/P. Scowen/ASU

ดาวดวงใหม่เป็นหนึ่งใน EGG ทั้ง 73 แห่ง ที่ถูกค้นพบภายใน Pillars of Creations เมื่อปี 2538 โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ขณะที่กลุ่มก๊าซอีก 11กลุ่มที่คาดว่าจะบรรจุเทหวัตถุเอาไว้ มีเพียง 4 กลุ่มเท่านั้น ที่มีมวลมากพอสำหรับการก่อตัวของดาวฤกษ์หนึ่งดวง และ E42 ก็เป็นหนึ่งเดียวในจำนวนนั้นที่มีมวลใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์

ขณะที่มุมมองในย่านรังสีเอกซ์ช่วยให้กลุ่มนักดาราศาสตร์ตรวจพบ ดาวฤกษ์ที่โตเต็มวัยแล้วประมาณ 1,100 ดวง ภายในเนบิวลาดังกล่าว แต่ EGG กลับไม่เปล่งรังสีเอกซ์ออกมาเนื่องจากยังอยู่ในช่วงอายุน้อยเกินกว่าจะร้อนพอที่จะปลดปล่อยรังสีพลังงานสูงดังกล่าวออกมา

เนบิวลานกอินทรีและภาพขยายของ Pillars of Creations

Credit : NASA/JPL-Caltech/N. Flagey/MIPSGAL Science Team.

ที่พิเศษนอกเหนือไปจากมวลของ E42 ก็คือ E42 อยู่ในสภาพแวดล้อมที่คล้ายกับสภาพแวดล้อมเดียวกับที่ทำให้เกิดดวงอาทิตย์เมื่อกว่า 5 พันล้านปีก่อน ซึ่งดวงอาทิตย์เกิดจากเมฆฝุ่นและก๊าซที่ถูกแผดเผาโดยรังสีอัลตราไวโอเลตและถูกทุบด้วยคลื่นกระแทกจากซูเปอร์โนวาอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ก่อให้เกิดธาตุที่หนักหว่าเหล็ก(Fe) ภายในกลุ่มก๊าซ ดวงอาทิตย์ และดาวเคราะห์

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา กลุ่มนักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศสตรวจพบการเรืองสว่างของหมู่เมฆฝุ่นในบริเวณใกล้เคียง E42 ซึ่งเกิดจากซูเปอร์โนวาเมื่อ 6,000 ปีก่อน แต่ก็ยังไกลเกินกว่าที่จะทำลาย E42 ให้เสียรูปร่างไป

 

 

เรีบเรียงโดย : วัชราวุฒิ หน่อแก้ว ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

----------------------------------------------------------