เดือนตุลาคม  2551

October  2008

เมฆก๊าซต้นกำเนิดดาวฤกษ์

October 29th, 2008

Adapted  from  eso.org: A claret-coloured cloud with a massive heart

หอสังเกตการณ์ European Space Observatory  เผยภาพถ่ายอาณาเขตกว้างใหญ่ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดดาวฤกษ์  ที่ชื่อว่า Gum 29     ภายในใจกลางของ Gum 29 คือกระจุกดาวฤกษ์ขนาดเล็ก Westerlund 2  อันเป็นบ้านของเหล่าระบบดาวฤกษ์คู่มวลมาก ซึ่งเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในหมู่นักดาราศาสตร์   




ภาพถ่ายโดยกล้อง Wide Field Imager (WFI)  ซึ่งติดตั้งกับกล้อง Max-Planck/ESO telescope   ภาพนี้ได้จากการถ่ายภาพผ่านแผ่นกรองแสงสามความยาวคลื่นได้แก่  น้ำเงิน(B)  เหลือง(V)  แดง( R ) และ H-alpha แล้วจึงนำมาซ้อนกันเป็นภาพเดียว   แสดงเมฆก๊าซแหล่งกำเนิดดาวฤกษ์ Gum 29  ภายในใจกลางคือกระจุกดาวฤกษ์อายุน้อย Westerlund 2  จุดสว่างสีเหลืองขาวด้านล่างคือระบบดาวฤกษ์มวลมาก  Credit: ESO


Gum 29 เป็นอาณาเขตที่อุดมด้วยโมเลกุลก๊าซไฮโดรเจน(hydrogen gas: H2) ซึ่งสูญเสียอิเลคตรอนไปเนื่องจากรังสีความเข้มสูงของดาวฤกษ์อายุน้อยอุณหภูมิสูง ซึ่งอยู่ตรงใจกลาง    นักดาราศาสตร์เรียกอาณาเขตแบบนี้ว่า  เขต HII-region (อ่านว่า H-two)   สำหรับ Gum29 มีขนาดกว้างใหญ่ไพศาลกว่า 200 ปีแสง เลยทีเดียว    เนื่องจากเทหวัตถุขนาดใหญ่แห่งนี้เป็นเทหวัตถุลำดับที่ 29 ในบัญชี ที่ถูกตีพิมพ์โดยนักดาราศาสตร์ชาวออสเตรเลีย Colin Stanley Gum เมื่อปี ค.ศ. 1955  มันจึงได้รับชื่อว่า Gum 29    



กลางภาพคือระบบดาวฤกษ์คู่ ซึ่งมีมวล 82 และ 83 เท่าของมวลดวงอาทิตย์ โคจรรอบกันและกันภายในเวลาเพียง 3.7 วัน Credit: ESO

กลุ่มเมฆก๊าซ Gum 29  มีกระจุกดาวฤกษ์ขนาดเล็ก  Westerlund 2  ซึ่งฝังลึกอยู่ภายในเมฆก๊าซยักษ์แห่งนี้  การสังเกตการณ์ครั้งล่าสุดบ่งชี้ว่ามันอยู่ห่างจากโลกประมาณ 26,000 ปีแสง  บริเวณขอบนอกของแขนเกลียว Carina ในกาแลกซีทางช้างเผือก(Milky Way)   นอกจากนี้ Westerlund 2 ยังมีอายุเพียง 1 ถึง 2 ล้านปี เท่านั้นซึ่งถือว่ามีอายุน้อยมาก
ผลการสังเกตการณ์ก่อนหน้านี้แดงให้เห็นว่าดาวฤกษ์สองดวงทางด้านขวาล่างของกระจุกดาวเป็นอสูรขนาดยักษ์โดยแท้  โดยทั้งสองก่อตัวเป็นระบบดาวคู่(double system)   โดยดาวฤกษ์ทั้งสองมีมวล 82 และ 83 เท่าของดวงอาทิตย์ของเรา  และโคจรรอบกันและกันภายในเวลาเพียง 3.7 วัน  อันถือว่าเป็นระบบดาวคู่ที่มีมวลมากที่สุดแห่งหนึ่งเท่าที่นักดาราศาสตร์เคยค้นพบ



ตัวอย่าง  Wolf-Rayet Star   WR 124 โดยกล้องโทรทรรรศน์อวกาศฮับเบิล เปิดเผยกลุ่มก๊าซที่ถูกพ่นออกมาจากดาวฤกษ์ด้วยอัตราเร็วมากกว่า 100,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง  Image credit: NASA/Yves Grosdidier (University of Montreal and Observatoire de Strasbourg), Anthony Moffat (Universitie de Montreal), Gilles Joncas (Universite Laval), Agnes Acker (Observatoire de Strasbourg)

เมื่อศึกษาลงลึกในรายละเอียดยิ่งขึ้น พบว่าดาวฤกษ์คู่นี้ต่างก็เป็นดาวชนิด Wolf-Rayet  หรือดาวฤกษ์มวลมากที่กำลังเข้าสู่วาระสุดท้าย ด้วยการปลดปล่อยสสารจำนวนมหาศาลออกมา  โดยเมื่อสังเกตการณ์ในย่านรังสีเอกซ์ก็พบธารสสารที่ออกมาจากดาวฤกษ์แต่ละดวงกำลังชนกันอย่างต่อเนื่องและแผ่รังสีเอกซ์ออกมา
ภาพถ่ายข้างต้นถ่ายจากกล้อง Wide Field Imager (WFI) ซึ่งติดตั้งกับกล้องโทรทรรศน์ Max-Planck/ESO ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.2 เมตร  ณ  La Silla ประเทศชีลี  ซึ่งอยู่เหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 2,400 เมตร ภายในทะเลทราย Atacama

ดาวฤกษ์สั่นไหว

October 24th, 2008

Adapted  from  Space.com: Starquakes Seen Inside Faraway Star


นี่เป็นครั้งแรกที่นักดาราศาสตร์การสั่น(quake) ภายในดาวฤกษ์ดวงอื่นนอกจากดวงอาทิตย์ของเรา 
นักดาราศาสตร์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า  “starquake” หรือการสั่นไหวของดาวฤกษ์   อันเป็นการเปิดหน้าต่างใหม่สู่การทำความเข้าใจกลไกภายในของดาวฤกษ์  ก่อนหน้านี้นักดาราศาสตร์  ได้ศึกษาการสั่นที่คล้ายคลึงกันนี้ภายในดวงอาทิตย์  และพวกเขาก็พบหลักฐานบ่งชี้ว่ามีการสั่นภายในดาวนิวตรอนมวลมาก(very massive neutron star)  แต่ยังไม่เห็นการสั่นภายในตัวดาวฤกษ์อื่นๆ มาก่อน

 


เมื่อมองไปยังดาวฤกษ์ ดาวเทียม COROT  สามารถใช้ตรวจหาดาวฤกษ์ไหว(starquake)  หรือคลื่นเสียงที่เกิดลึกลงไปภายในดาวฤกษ์และทำให้เกิดการกระเพื่อมของผิวดาว  ส่งผลต่อการแปรผันของความเข้มแสง   จำนวนระลอกคลื่นสามารถช่วยให้นักดาราศาสตร์คำนวณมวล อายุ และแม้แต่องค์ประกอบทางเคมีของดาวฤกษ์ Credit: CNES

จากการสำรวจโดยใช้ดาวเทียม COROT ของยุโรป  และเทคนิคที่คล้ายกับการศึกษาแผ่นดินไหวบนโลก(earthquake) นั่นก็คือการวัดการเคลื่อนที่ของคลื่นเสียง(acoustic wave)ภายใต้ผิวดาวฤกษ์   ทำให้ผิวดาวกระเพื่อม  ส่งผลต่อการแปรผันของความเข้มแสง    ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถทำความเข้าใจโครงสร้างภายในของดาวฤกษ์ และเส้นทางที่พลังงานถูกถ่ายทอดออกมาจากแกนสู่ผิวดาวฤกษ์   โดยจำนวนระลอกคลื่นสามารถช่วยให้นักดาราศาสตร์คำนวณมวล อายุ และแม้แต่องค์ประกอบทางเคมีของดาวฤกษ์
 


ภาพถ่ายจากดาวเทียม SOHO  นักดาราศาสตร์พบการลุกจ้า(solar flare) เมื่อ 9 กรกฎาคม 1996  ที่ทำให้เกิดคลื่นแผ่นดินไหว(seismic waves) ภายในดวงอาทิตย์   นักวิจัยพบว่าการสั่นบนผิวดวงอาทิตย์บรรจุพลังงานไว้ประมาณ 40,000 เท่าของพลังงานในแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ทำลายนครซานฟรานซิสโก เมื่อปี 2449   หรือเท่ากับปริมาณพลังงานที่ Credit: ESA/NASA SOHO

Malcolm Fridlund  นักวิจัยจากสำนักงานบริการอวกาศยุโรป(European Space Agency)  กล่าวว่า “เทคนิคอื่นๆ ใช้ประมาณการสั่นของดาวฤกษ์เคยถูกใช้กับการสำรวจภาคพื้นดิน แต่เทคนิควิธีเหล่านั้นก็มีข้อจำกัดในตัวเอง”   ดาวฤกษ์ที่พวกเขาศึกษาโดยดาวเทียม COROT คือ  HD499933, HD181420 และ HD181906  ซึ่งล้วนเป็นดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์  ขณะที่งานวิจัยยังไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ได้ทั้งหมด  นักวิจัยจึงยังคงมีความกระตือรือร้นในสิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้ในขณะนี้


 
ดาวเทียม COROT ของสำนักงานบริการอวกาศยุโรป(ESA) ถูกออกแบบมาเพื่อค้นหาดาวเคราะห์หินที่มีขนาดใหญ่กว่าโลกเล็กน้อย โดยการวัดแสง หาแสงสว่างของดาวฤกษ์ที่ลดลงอันเนื่องมาจากดาวเคราะห์โคจรมาบังด้านหน้า Credit: CNES/D Ducros

Fridlund กล่าวว่า “ความจริงที่ว่า COROT  บรรลุผลในการสำรวจภายในของดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์ด้วยการวัดโดยตรง ถือเป็นก้าวกระโดดใหญ่ในการทำความเข้าใจดาวฤกษ์โดยทั่วไป”  “นอกจากนี้  นี่จะเป็นการช่วยเราในการทำความเข้าใจดวงอาทิตย์ของเราได้ดียิ่งขึ้น โดยการเปรียบเทียบ”   รายงานการวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ฉบับวันที่ 24 ตุลาคม ศกนี้ The

พายุหมุนที่ขั้วดาวเสาร์

October 15th, 2008

Adapted  from  Space.com: Giant Cyclones Seen on Saturn


ด้วยยานอวกาศคาสสินี(Cassini) นักวิทยาศาสตร์พบพายุหมุนเขตร้อนขนาดยักษ์ที่บริเวณขั้วเหนือของดาวเสาร์(Saturn) และพบพายุลักษณะเดียวกันที่บริเวณขั้วใต้ของดาวเคราะห์เจ้าแห่งแหวน  ซึ่งขยายใหญ่ขึ้นจนใหญ่กว่าเดิมนับ 10  เท่า    ภาพถ่ายจากกล้องถ่ายภาพรังสีอินฟราเรด(infrared) เปิดเผยภาพพายุยักษ์ที่กำลังหมุนวนอยู่เหนือขั้วเหนือและใต้ของดาวเสาร์

 

พายุหมุนบริเวณขั้วเหนือ(ซ้าย) และใต้(ขวา) ของดาวเสาร์ เมื่อมิถุนายน 2551  จากยานอวกาศคาสสินีที่กำลังโคจรสำรวจระบบดาวเสาร์และดวงจันทร์บริวาร  Credit: NASA/JPL/University of Arizona


Kevin Baines นักวิทยาศาสตร์ประจำแผนกแผนที่สเปคโตรมิเตอร์ย่านแสง ที่ตามนุษย์มองเห็นและอินฟราเรด (visual and infrared mapping spectrometer)  จากห้องปฏิบัติการณ์เครื่องยนต์ไอพ่น(Jet Propulsion Laboratory) ใน Pasadena มลรัฐคาลิฟอร์เนีย(California) ประเทศสหรัฐอเมริกา  กล่าวว่า “นี่เป็นพายุหมุนขนาดใหญ่จริงๆ  มันรุนแรงกว่าพายุเฮอริเคนขนาดใหญ่บนโลกนั้นหลายร้อยเท่า”      “เมฆคิวมูลัส(cumulus) ที่ก่อตัวขึ้นถูกพาหมุนไปรอบๆ ขั้ว ปกคลุมพายุฟ้าคะนองขนาดใหญ่ที่อยู่เบื้องล่าง  พายุฟ้าคะนองดูเหมือนจะเป็นแหล่งพลังงานสำคัญสำหรับระบบสภาพอากาศขนาดยักษ์ของดาวเคราะห์ก๊าซ”
นักวิจัยคิดว่าพายุได้รับพลังงานจากการปลดปล่อยความร้อนจากน้ำที่ควบแน่นแล้วคายความร้อนออกมา ภายในพายุฟ้าคะนองที่อยู่ในชั้นบรรยากาศเบื้องล่าง  คล้ายกับน้ำที่ควบแน่นภายในกระแสลมหมุนของพายุหมุนเขตร้อนบนโลก   ข้อแตกต่างจากพายุหมุนบนโลก ซึ่งมีกำเนิดมาจากความร้อนและพลังงานของมหาสมุทร  ก็คือพายุหมุนของดาวเสาร์ไม่มีน้ำเป็นฐานกำลัง   อีกทั้งพายุยังถูกตรึงไว้ที่ขั้วดาวเสาร์  ที่ซึ่งพายุเฮอริเคนภาคพื้นดินลอยเลื่อนข้ามมหาสมุทร  

 


ภาพถ่ายจากย่านอินฟราเรดแสดงขั้วใต้ของดาวเสาร์ที่มีลมหมุนคล้ายพายุหมนุบนดลก อยู่ตรงใจกลาง   Credit: NASA/JPL/University of Arizona


ยานอวกาศคาสสินีถ่ายภาพทำแผนที่ขั้วเหนือของดาวเสาร์ในย่านรังสีอินฟราเรด   เส้นสายในภาพละเอียดถึงระดับ 120 กิโลเมตร ส่วนพายุหมุนที่ขั้วเหนือหมุนด้วยอัตราเร็ว 325 กิโลเมตร ต่อวินาที  ซึ่งเร็วกว่าความเร็วลมที่เร็วที่สุดซึ่งวัดจากพายุหมุนเขตร้อนบนโลกถึงสองเท่า
รอบๆ พายุหมุนคือโครงสร้างเมฆที่ปรากฎเส้นสายรูปหกเหลี่ยมคล้ายรังผึ้ง(honeycomb)และไม่ได้เคลื่อนตัวไปไหน ในขณะที่เมฆที่อยู่ภายในถูกลากให้หมุนไปรอบๆใจกลางพายุด้วยความเร็วสูง  ที่น่าแปลกก็คือ  ไม่ว่าเมฆความเร็วสูงภายในหกเหลี่ยมหรือพายุก็ไม่ส่งผลกระทบต่อเส้นสายรูปหกเหลี่ยมนั้นเลย




 
ภาพถ่ายแสดงสันฐานของลมหมุนที่ขั้วใต้ของดาวเสาร์  สีขาวในภาพคือเมฆ ที่วนรอบตามแนวการหมุนของพายุ  credit: NASA/JPL/Space Science Institute

พายุในขั้นใต้ของดาวเสาร์เคยถูกพบมาก่อน  แต่ไม่ได้ถูกศึกษาลงลึกถึงรายละเอียดมากนัก  ภาพถ่ายที่ถ่ายไว้ก่อนหน้านี้เผยให้เห็น  วงแหวนส่วนนอกของเมฆในระดับสูงรอบๆ พื้นที่หนึ่งซึ่งเคยคิดว่าเป็นเขตที่อากาศปลอดปล่อยแทรกแซมด้วยปุยเมฆจำนวนน้อยๆ หมุนวนอยู่รอบๆ    แต่ภาพถ่ายใหม่แสดงให้เป็นว่าแท้จริงแล้วเมฆถูกลมพาไปตามแนวการหมุนของพายุ ซึ่งทำให้เกิดเมฆที่เป็นวงในด้วย
Tony Del Genio จากสถาบันกอดดาร์ดเพื่อการศึกษาอวกาศ(Goddard Institute for Space Studies) ขององค์การบริหารการบินและอวกาศหรือ NASA ในกรุงนิวยอรค์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสมาชิกแผนกภาพถ่ายของยานคาสสินี กล่าวว่า “สิ่งที่มองเห็นคล้ายปุยเมฆภายในภาพถ่ายความละเอียดต่ำ กลายเป็นโครงสร้างเมฆที่ถูกพัดพาที่อยู่ลึกลงไปในกลุ่มหมอกในชั้นบรรยากาศ”  “หนึ่งในนั้นถูกผลักขึ้นให้ลอยสูงขึ้นและเกิดเป็นลมหมุนขนาดเล็กด้วยตัวมันเอง
วงแหวนส่วนนอกของเมฆชั้นสูงรอบๆ ลมหมุนมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 4,000 กิโลเมตร  และจากเงาที่พาดทับลงไปเหนือเมฆภายในวงแหวนชั้นในสามารถประมาณความสูงเหนือเมฆในวงแหวนชั้นในได้ประมาณ 40 ถึง 70 กิโลเมตร    วงแหวนชั้นในมีขนาดเล็กกว่าวงแหวนหลักครึ่งหนึ่ง โดยเฉพาะบริเวณตาพายุก็มีขนาดเล็กกว่าที่พบในภาพถ่ายความละเอียดต่ำ

ระบบสุริยะกำเนิดจากซูเปอร์โนวา

October 4th, 2008

Adapted  from  Space.com: Our Solar System Born in "Little Bang'


ระบบสุริยะอาจถือกำเนิดขึ้นเนื่องจากการกระตุ้นโดยซูเปอร์โนวาหรือการระเบิดของดาวฤกษ์ที่สิ้นอายุขัย   คลื่นกระแทกจากการระเบิดจะกระตุ้นให้เมฆก๊าซและฝุ่นความหนาแน่นสูง  อัดตัวกันแน่นยิ่งขึ้นจากความดันของคลื่น

 

ภาพตัดขวางของเมฆก๊าซมวลเท่าดวงอาทิตย์  กำลังถูกชนโดยหน้าคลื่นกระแทกที่กำลังเคลื่อนที่จากด้านบน ความเข้มของสีแดงในภาพแสดงความหนาแน่นของเมฆในแต่ละพื้นที่ เส้นสีดำแสดงขอบเขตความหนาแน่นของสสารเกิดจากไอโซโทปอายุสั้นที่ถูกหน้าคลื่นซูเปอร์โนวาพาเข้าไปชนกลุ่มเมฆ Credit: Alan Boss

Alan Boss นักทฤษฎีจากสถาบันคาร์เนกี(Carnegie Institution) อธิบายว่า “เรามีหลักฐานทางเคมีจากดาวหางที่ชี้ว่าซูเปอร์โนวากระตุ้นการกำเนิดของระบบสุริยะ(solar system) ตั้งแต่เมื่อทศวรรษที่ 8 ของศตวรรษก่อน”  “แต่ปิศาจยังคงซ่อนอยู่ในรายละเอียด แม้กระทั่งทุกวันนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถหามุมมองที่เกี่ยวข้องสอดคล้อง  ซึ่งบ่งบอกว่าการยุบตัวของก๊าซถูกกระตุ้น อย่างเช่นไอโซโทป(isotope) ของธาตุใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงเดียวกับซูเปอร์โนวาแล้วถูกพ่นออกมาเข้าสู่กลุ่มเมฆที่กำลังยุบตัว”



 
เขตผลึกโลหะภายใน CH chondrite ซึ่งถูกพบในอุกกาบาต PAT 91546  ณ ทวีปแอนตาร์คติกาหรือขั้วโลกใต้ ภาพถ่ายแสงสะท้อนบริเวณสีขาวคือจุดที่มีโลหะ เหล็ก-นิกเกิล  ส่วนสีดำคือแร่ซิลิเกต credit: Meibom, et al., 1999


ไอโซโทปกัมมันตรังสีอายุสั้น(Short-lived radioactive isotopes)  เป็นรูปแบบอื่นของนิวเคลียสธาตุที่มีเลขโปรตอนเดียวกัน แต่จำนวนนิวตรอน(neutron) ต่างกัน  ซึ่งมักพบในหินอุกกาบาตเก่าแก่อายุนับล้านปี ไอโซโทปเหล่านี้จะสลายตัวเป็นธาตุรุ่นต่อไปเรียกว่า daughter element การค้นพบ daughter element ภายในอุกกาบาตดึกดำบรรพ์แสดงให้เห็นว่าไอโซโทปกัมมันตรังสีรุ่นพ่อแม่จะต้องถูกสร้างขึ้นไม่กี่ล้านปีหรือมากกว่านั้นก่อนที่อุกกาบาตจะถูกค้นพบ
หนึ่งในไอโซโทปรุ่นพ่อแม่ อย่างเหล็ก-60 (iron-60)  ถูกพบมากอย่างมีนัยสำคัญภายในดาวฤกษ์มวลมากที่วิวัฒนาการมานานพอ   เหล็ก-60 หรือไอโซโปเหล็กที่มีจำนวนนิวตรอนกับโปรตอนรวมกันได้ 60   จะสลายตัวเป็น  นิกเกิล-60 ซึ่งถูกพบในอุกกาบาตดึกดำบรรพ์   ดังนั้นเรารู้ว่าที่ใดและเมื่อใด   ที่ไอโซโทปรุ่นแรกถูกสร้างขึ้น แต่ไม่รู้ว่ามันมาอยู่ที่นั่นได้อย่างไร

 


เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2551 ที่ผ่านมา  ยานอวกาศสวิฟต์(Swift) ได้ถ่ายภาพการประทุในย่านรังสีเอกซ์จากดาวฤกษ์ที่กำลังระเบิด หรือซูเปอร์โนวา  SN2008D ซึ่งอีกไม่กี่วันต่อมาก็ซูเปอร์โนวาแห่งนี้ก็เปล่งแสงในย่านที่ตามมนุษย์มองเห็น Credit: NASA/Swift Science Team/Stefan Immler

สมมติฐานเดิมของ Boss แสดงให้เห็นว่าไอโซโทปสามารถสะสมตัวเข้าไปในเมฆก๊าซต้นกำเนิดดวงอาทิตย์ ถ้าคลื่นกระแทกจากการระเบิดซูเปอร์โนวาช้าลงจนถึงระดับ 9.6  ถึง 40.2 กิโลเมตรต่อวินาที  คลื่นและเมฆจะมีอุณหภูมิคงที่ประมาณ 10 เคลวิน  สมมติฐานนี้จะใช้ไม่ได้ถ้าสสารถูกทำให้ร้อนขึ้นโดยการบีบอัดและเย็นตัวลงโดยการแผ่รังสี  และยังคงหลงเหลือคำถามเกี่ยวกับเวลาที่คลื่นกระแทกจากซูเปอร์โนวาเริ่มส่งผลต่อกระบวนการนี้ว่าเริ่มตั้งแต่ สี่พันล้านปีก่อนหรือไม่
หลังจากการจำลองเหตุการณ์ด้วยการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยคำนวณหลายต่อหลายครั้ง   หน้าคลื่นกระแทกได้กระทบเมฆสสารต้นกำเนิดดวงอาทิตย์ ซึ่งประกอบด้วยฝุ่น น้ำ คาร์บอนมอนอกไซด์(carbonmonoxide) และโมเลกุลไฮโดรเจน ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นถึง 1,000 เคลวิน  และหากไม่มีการเย็นตัวลงกลุ่มก๊าซก็จะไม่สามารถยุบตัวได้เพราะแรงดันอันเนื่องมาจากความร้อนยังต้านทานแรงโน้มถ่วง
อย่างไรก็ตาม ด้วยสมมติฐานกฎของการเย็นตัว  นักวิจัยพบว่ากลุ่มเมฆต้นกำเนิดดวงอาทิตย์จะหน้าแน่นขึ้น 1,000 เท่า ภายในเวลา 100,000 ปี  และเพราะความร้อนจากคลื่นกระแทกจะหายไปอย่างรวดเร็วนี่เอง ที่ทำให้เกิดชั้นบางๆ ที่มีอุณหภูมิ 1000 เคลวิน   หลังจากเวลาผ่านไป 160,000 ปี บริเวณใจกลางของเมฆก๊าซจะยุบตัวจนหนาแน่นกว่าเดิม 1,000,000 เท่า  ก่อเกิดดวงอาทิตย์ขั้นต้น(protosun)  ภายในบริเวณที่เกี่ยวข้องกับซูเปอร์โนวา 
งานวิจัยอื่นๆ บ่งชี้ว่าดวงอาทิตย์ของเราอาจเกิดในสภาพแวดล้อมอันจอแจ ใกล้กับดาวฤกษ์มวลมาก  แต่ภายหลังได้ลอยเลื่อนออกมายังบริเวณอื่นในอวกาศอย่างโดดเดี่ยว  แต่นี่เป็นสมมติฐานที่บอกว่าครั้งหนึ่งซูเปอร์โนวากระตุ้นการกำเนิดระบบสุริยะและแสดงให้เห็นว่าแนวคิดนี้ใช้ได้จริง 
Boss จะตีพิมพ์งานวิจัยนี้ลงในวารสาร Astrophysical Journal ฉบับวันที่ 20 ตุลาคมศกนี้