ทฤษฎีเกี่ยวกับขอบของฮีลิโอสเฟียร์
(Termination Shock Theory, Heliopause Theory)
ฮีลีโอสเฟียร์ (heliosphere) คือ อาณาเขตคล้ายฟอง (bubble)ภายในอวกาศที่ขยายตัวโดยลมสุริยะ (solar wind)ไปในตัวกลางระหว่างดาว(interstellar medium) หรือก๊าซไฮโดรเจนและก๊าซฮีเลียมที่แพร่กระจายไปทั่วกาแลกซี แม้ว่าอะตอมที่มีประจุเป็นกลางทางไฟฟ้าจากอวกาศระหว่างดาวฤกษ์(interstellar space) สามารถทะลุผ่านฟองฮีลีโอสเฟียร์เข้ามาภายในได้ แต่วัสดุส่วนใหญ่ภายในฮีลีโอสเฟียร์ถือว่าออกมาจากดวงอาทิตย์ ฮีลีโอสเฟียร์จึงเป็นอาณาเขตที่โอบคลุมทั้งระบบสุริยะ ลมสุริยะ และสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์เอาไว้
โครงสร้างบริเวณขอบของฮีลิโอเฟียร์ถูกแบ่งด้วยอันตรกิริยาระหว่างลมสุริยะกับลมระหว่างดาวฤกษ์ (interstellar wind) กระแสลมสุริยะที่เคลื่อนออกจากดวงอาทิตย์ทุกทิศทางด้วยอัตราเร็วหลายร้อยกิโลเมตรต่อวินาที (วัดจากบริเวณใกล้เคียงโลก)ด้วยความเร็วเหนือเสียง ที่ระยะถัดจากวงโคจรของดาวเปนจูน(Neptune) ลมสุริยะความเร็วเหนือเสียง (supersonic wind) จะช้าลงเมื่อเข้าใกล้แนวปะทะกับตัวกลางระหว่างดาวฤกษ์ (interstellar medium) บริเวณที่เรียกว่า termination shock ซึ่งอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นระยะ 75 ถึง 100 AU จากดวงอาทิตย์( 1 AU:Astronomical Unit คือระยะทางเฉลี่ยจากดวงอาทิตย์ถึงโลก) บริเวณนี้จะเกิดคลื่นกระแทกแบบนิ่ง (standing shock save) และเป็นอาณาเขตที่เกิดการเร่งความเร็วของอนุภาคทั้งจากภายนอกระบบสุริยะหรือในระบบสุริยะ
แสดงขอบนอกของระบบสุริยะตั้งแต่ termination shock , heliopause, และ bow shock
เส้นสีขาวแสดงแนวการเคลื่อนที่ของลมระหว่างดาวฤกษ์กับลมสุริยะ ลูกศรสีชมพูแสดงการเคลื่อนที่ของอนุภาคทั้งที่เป็นรังสีคอสมิค (cosmic rays)
กับอนุภาคที่กำลังถูกเร่งบริเวณ termination shock นอกจากนี้ลูกศรสีส้มแทนทิศทางของยานอวกาศ V1 คือ Voyager1 V2 คือ Voyager2
และ P10 คือ Pioneer10 ทั้งสามลำคือยานอวกาศที่กำลังเดินทางเข้าสู่ขอบเขตนอกสุดของระบบสุริยะ
Image credit: http://interstellar.jpl.nasa.gov/interstellar/index_old.html
บริเวณที่ถัดออกไปจาก termination Shock อัตราเร็วของลมสุริยะจะลดลงจนช้ากว่าความเร็วเสียง (subsonic) หรือต่ำกว่า 100 กิโลเมตรต่อวินาที ลมสุริยะที่ความเร็วลดต่ำลงดังกล่าวจะเผชิญกับกระแสตัวกลางระหว่างดาวฤกษ์ ความดันจากตัวกลางระหว่างดาวทำให้เกิดโครงสร้างคล้ายดาวหาง (comet) ครอบคลุมระบบสุริยะเอาไว้ซึ่งเรียกว่า heliosheath โดยผิวนอกสุดของ heliosheath อันเป็นย่านที่ฮีลีโอสเฟียร์ปะทะกับตัวกลางระหว่างดาวฤกษ์ เรียกว่า heliopause อันถือว่าเป็นขอบเขตนอกสุดของฮีลีโอสเฟียร์ทั้งหมด ส่วนผิวในสุดของ heliosheath คือ termination shock นั่นเอง
ภาพจำลองแสดงองค์ประกอบของระบบสุริยะภายใน heliosphere, termination shock, heliopause, bow Shock และตัวกลางระหว่างดาวฤกษ์
Image credit: http://books.nap.edu/openbook/NI000577/gifmid/29.gif
ความดันที่แตกต่างกันระหว่าง heliopause กับตัวกลางระหว่างดาวฤกษ์ก่อให้เกิดอาณาบริเวณอันเต็มไปด้วยความปั่นป่วน (turbulent) ระหว่าง heliopause กับตัวกลางระหว่างดาวฤกษ์ (interstellar medium) ที่เรียกว่า bow shock
แนว bow shock ของดาวฤกษ์ LL Orionis ซึ่งเป็นแนวปะทะของลมดาวฤกษ์จาก LL Orionis เองกับกระแสตัวกลางระหว่างดาวในบริเวณใกล้เคียง
Images credit: NASA and The Hubble Heritage Team(STScI/AURA)/ HST/WFPC2 STScI-PRC02-05
อ้างอิง
- http://helios.gsfc.nasa.gov/heliosph.html
- http://en.wikipedia.org/wiki/Heliosphere