การลุกจ้าของดวงอาทิตย์

(Solar Flares)

 

การลุกจ้า(Flare) คือการเกิดแสงสว่างวาบขึ้นภายในบรรยากาศชั้นโคโรนา(corona) และโครโมสเฟียร์(chromospheres)   การลุกจ้าของดวงอาทิตย์ (solar flare) เกิดขึ้นเมื่อพลังงานภายในสนามแม่เหล็กที่ถูกสร้างขึ้นภายในชั้นบรรยากาศโครโมสเฟียร์ถูกปลดปล่อยอย่างรวดเร็ว   พลังงานถูกปลดปล่อยออกมาในรูปคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเกือบทุกย่านความถี่ตั้งแต่คลื่นที่มีความยาวคลื่นยาวอย่างคลื่นวิทยุ (radio wave) แสงที่ตามนุษย์มองเห็น (optical light)  รังสีเอกซ์ (X-rays) ไปจนถึงคลื่นที่มีความยาวคลื่นสั้นอย่างรังสีแกมมา(gamma rays)   ส่วนใหญ่การลุกจ้าจะเกิดในบริเวณกัมมันต์ (active regions) รอบๆ จุดดับ(sunspots) ที่ซึ่งมีสนามแม่เหล็กความเข้มสูงออกมาจากผิวดวงอาทิตย์ชั้นโฟโตสเฟียร์ (photosphere) สู่บรรยากาศชั้นโคโรนา   โดยทั่วไปการลุกจ้าจะปล่อยพลังงานในระดับ  1020  จูลต่อวินาที (Joules/second)   สำหรับการลุกจ้าที่รุนแรงอาจมากถึง 1025 จูล(Joules)  เทียบเท่าระเบิดไฮโดรเจนหนัก 100 ล้านตัน ซึ่งระเบิดขึ้นมาพร้อมๆ กัน   หรือคิดเป็นสิบล้านเท่าของพลังงานจากภูเขาไฟระเบิด  แต่ก็ยังถือว่าน้อยกว่า 1 ใน 10 ของพลังงานทั้งหมดที่ดวงอาทิตย์แผ่ออกมาในหนึ่งวินาที

 

ภาพในย่านรังสีเอกซ์โดยยานอวกาศ  Yohkoh    ภาพซ้ายมือ คือ ภาพจากย่านรังสีเอกซ์พลังงานต่ำ (Soft X-rays)   

ภาพขวามือ ขยายบริเวณที่เกิดการลุกจ้าแสดงเส้นขอบความเข้มของรังสีเอกซ์พลังงานสูง (Hard X-rays)  เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2535  

Image credit: JAXA/NASA

 

พลังงานมหาศาลดังกล่าวสามารถทำให้พลาสมา (plasma) ร้อนขึ้นจนมีอุณหภูมิสูงกว่า  10 ล้านองศาเคลวิน(Kelvin)  ส่วนอนุภาค เช่น  อิเลคตรอน โปรตอน และนิวเคลียสของธาตุหนักอื่นๆ จะถูกเร่งความเร็วจนเข้าใกล้ความเร็วแสง(ประมาณ 3 x 108   เมตรต่อวินาที) ภายในบรรยากาศชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์     

การลุกจ้าถูกพบครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1859  (พ.ศ. 2402)  โดยนักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวอังกฤษ Richard C. Carrington (1826-75) พบปื้นสว่างสองจุดในย่านแสงที่ตามนุษย์มองเห็น (visible, optical, white light) ในขณะที่  Richard  Hodgson ก็พบปรากฎการณ์ดังกล่าวเช่นกัน  นอกจากนี้ยังมีรายงานการค้นพบออโรร่า(aurora) บริเวณใกล้ศูนย์สูตรอย่างประเทศคิวบา  อีกทั้งหอสังเกตการณ์ Kew ยังพบความปั่นป่วนในสนามแม่เหล็ก ซึ่ง Carrington เสนอว่าเหตุการณ์เหล่านี้เกี่ยวข้องกัน

 

การลุกจ้าของดวงอาทิตย์เมื่อวันที่  19 ตุลาคม 2546 ในย่านความยาวคลื่นที่ก๊าซไฮโดรเจนดูดกลืนแสง

ที่เรียกว่า H-alpha  จะเห็นการลุกจ้าปรากฎเป็นปื้นสีขาวบริเวณซ้ายมือ 

Image credit: Big Bear Observatory

 

กระบวนการเกิดการลุกจ้าของดวงอาทิตย์(solar flare) มีสามระยะ   ได้แก่

1.    ระยะก่อนปรากฎการณ์(precursor stage)  คือการกระตุ้นการปลดปล่อยพลังงานของสนามแม่เหล็ก  รังสีเอกซ์พลังงานต่ำ (soft x-ray) จะแผ่ออกมาในระยะนี้ 

2.    ระยะกระตุ้น  (impulsive stage) โปรตอนและอิเล็กตรอนจะถูกเร่งจนมีพลังงานจลน์มากกว่า 1 MeV  ในระยะนี้ คลื่นวิทยุ  รังสีเอกซ์พลังงานสูง (hard x-ray) และรังสีแกมมา (gamma ray) จะแผ่ออกมา

3.    ระยะสลายตัวของรังสี (decay stage)  ความเข้มของรังสีเอกซ์พลังงานต่ำจะค่อยๆลดลง  ภายในเวลาไม่กี่วินาทีหรือนานนับชั่วโมง การลุกจ้าจะขยายตัวสู่บรรยากาศชั้นโคโรนา (corona) อันเป็นบรรยากาศชั้นนอกสุดของดวงอาทิตย์ ประกอบด้วยแก๊ซที่มีความหนาแน่นต่ำแต่มีอุณหภูมิสูงนับล้านองศาเคลวิน (Kelvin)  ส่วนการลุกจ้ามีอุณหภูมินับ 100 ล้านองศาเคลวิน ซึ่งสามารถมองเห็นได้ในย่านรังสีเอกซ์พลังงานต่ำ(soft x-rays)

 

บรรยากาศชั้นโคโรนาสามารถเห็นได้ในย่านรังสีเอกซ์พลังงานต่ำ (soft x-rays) และสว่างเป็นบางจุดไม่สม่ำเสมอ  โดยจะสว่างมากบริเวณใกล้ศูนย์สูตรดวงอาทิตย์ (solar equator) เป็นรูปแบบคล้ายวงปิด (loop-shape) บ่วงสุกสว่างเหล่านั้นเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ที่มีสนามแม่เหล็กความเข้มสูงที่เรียกว่าบริเวณกัมมันต์ (active regions) หรือจุดดับ(Sun spot) และการลุกจ้าของดวงอาทิตย์ (solar flare) เกิดขึ้นในบริเวณดังกล่าวด้วย

การลุกจ้า (flare) เกิดขึ้นได้บ่อยครั้งเพียงใด ขึ้นอยู่กับว่าช่วงเวลานั้นดวงอาทิตย์มีกิจกรรมเชิงแม่เหล็กมากหรือน้อย  ตามรอบวัฏจักรสุริยะ 11 ปี (solar cycle) ที่ดวงอาทิตย์เกิดจุดดับมาก การลุกจ้าแต่ละครั้งอาจเกิดห่างกันไม่กี่วัน แต่หากดวงอาทิตย์อยู่ในช่วงที่จุดดับน้อยๆ  การลุกจ้าแต่ละครั้งอาจห่างกันเป็นสัปดาห์

สำหรับดวงอาทิตย์การแผ่รังสีเอกซ์ และรังสีอัลตราไวโอเลตจากการลุกจ้าสามารถรบกวนบรรยากาศชั้นไอโอโนสเฟียร์(ionosphere) ของโลกจนเกิดผลกระทบต่อการสื่อสารด้วยคลื่นวิทยุระยะไกล    นอกจากนี้การแผ่คลื่นวิทยุโดยตรงจากการลุกจ้าที่ความยาวคลื่นประมาณ 0.1 เมตร  สามารถรบกวนการทำงานของเรดาร์ (radar) และอุปกรณ์อื่นๆ ที่ทำงานในย่านความยาวคลื่นนี้

 

แสดงการแผ่รังสีเอกซ์จากดวงอาทิตย์อันเป็นผลมาจากการลุกจ้าเมื่อช่วงวันที่ 299 – 322 ของปี 2546

จะเห็นว่าค่าการแผ่รังสีที่มากที่สุดสามครั้งอยู่ในระดับ และมีระดับที่รุนแรงน้อยลงมาที่ระดับ

Image credit: http://lasp.colorado.edu/see/oct03_flare.shtml

 

ระดับของการลุกจ้าของดวงอาทิตย์แบ่งออกเป็น  A, B, C, M หรือ X  ตามระดับความเข้มรังสีสูงที่สุด(ในหน่วย วัตต์ต่อตารางเมตร)  ในช่วงความยาวคลื่น  0.1 – 0.8  นาโนเมตร ของรังสีเอกซ์ ซึ่งวัดได้บริเวณใกล้โลก โดยยานอวกาศ GOES   ดังตาราง

 

ระดับการลุกจ้า (Class)

ความเข้มรังสีเอกซ์สูงที่สุด (วัตต์ต่อตารางเมตร) : W/m2

A

10-8

B

10-7

C

10-6

M

10-5

X

10-4

  

นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งระดับย่อยลงไปเป็นมาตราส่วนเชิงเส้นจาก 1 ถึง  ดังนั้นการลุกจ้าระดับ X2 (จึงเข้มข้นเป็นสองเท่าของ  X1   และคิดเป็น 5 เท่า ของการลุกจ้าเป็นระดับ  M5   

โดยทั่วไปการลุกจ้าในระดับ M และ X  มักเกี่ยวข้องกับการแปรเปลี่ยนของสภาพอวกาศในบริเวณใกล้โลก  และยังสามารถพบได้บนดาวฤกษ์ดวงอื่นๆ ด้วยเรียกว่าการลุกจ้าของดาวฤกษ์(stellar flare) 

การลุกจ้าสามารถสังเกตการณ์ได้ผ่านอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่ออกแบบมาเพื่อวัดสัญญาณการแผ่รังสีในขณะเกิดการลุกจ้า   อาทิ ในย่านคลื่นวิทยุ(radio wave)และแสงที่ตามนุษย์มองเห็น(optical light) สามารถสังเกตการณ์ได้จากกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดิน ทั้งแบบกล้องโทรทรรศน์เชิงแสงและกล้องโทรทรรศน์วิทยุ    ส่วนรังสีพลังงานสูงอย่างรังสีเอกซ์และรังสีแกมมาซึ่งไม่สามารถผ่านชั้นบรรยากาศโลกนั้น สามารถตรวจวัดได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์ที่อยู่ในอวกาศ

 

 

อ้างอิง

-    http://en.wikipedia.org

-    http://hesperia.gsfc.nasa.gov