ดวงอาทิตย์
(Sun)
Image credit: http://www.nasa.gov/images/content/171925main_heliolayers_label_516.jpg
ดวงอาทิตย์ (Sun)
ดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์ที่อยู่ตรงใจกลางของระบบสุริยะ ดวงอาทิตย์ให้แสงสว่าง ความร้อน และพลังงานรูปแบบอื่นแก่โลก ดวงอาทิตย์อยู่ในสถานะที่เรียกว่า พลาสมา พลาสมาคือ สถานะที่ 4 ของสสาร คือ แก๊สที่อิเล็กตรอนไม่ได้ยึดติดกับนิวเคลียส ดังนั้น พลาสมาจึงมีความเป็นกลางทางประจุไฟฟ้า รอบ ๆ ดวงอาอาทิตย์ประกอบด้วยดาวเคราะห์ต่าง ๆ กับดาวบริวารของมัน ดาวเคราะห์น้อยอีกนับแสน และดาวหางอีกเป็นล้านล้าน ทั้งหมดนี้รวมเรียกว่า ระบบสุริยะ
ดวงอาทิตย์อยู่ห่างจากโลกประมาณ 150 ล้านกิโลเมตร หรือ 1 AU (Astronomical Unit) มีมวลประมาณ 1.9x1030 กิโลกรัม มีรัศมี (วัดบริเวณเส้นศูนย์สูตร) ประมาณ 695,500 กิโลเมตร ดวงอาทิตย์ประกอบด้วยไฮโดรเจน 75% ต่อมวล ฮีเลียม 25% ต่อมวล และธาตุหนักอื่น ๆ อีกน้อยกว่า 1% ต่อมวล
ผิวของดวงอาทิตย์ที่เรามองเห็นได้มีอุณหภูมิประมาณ 5,500 องศาเซลเซียส นักดาราศาสตร์วัดอุณหภูมิผิวดาวฤกษ์ในหน่วยของเคลวิน ซึ่ง 1 เคลวิน เท่ากับ 1 องศาเซลเซียส เท่ากับ 1.8 องศาฟาเรนไฮต์ แต่จุดเริ่มต้นของเคลวินและองศาเซลเซียสแตกต่างกัน โดยเคลวินเริ่มที่ 0 เคลวิน แต่องศาเซลเซียสเริ่มที่ -273.15 องศาเซลเซียส (เท่ากับ -459.67 องศาฟาเรนไฮต์) ดังนั้น อุณหภูมิที่ผิวดวงอาทิตย์จะมีค่าประมาณ 5,800 เคลวิน และอุณหภูมิที่แกนกลางของดวงอาทิตย์สูงถึงประมาณ 15 ล้านเคลวิน
พลังงานของดวงอาทิตย์มาจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน ซึ่งเกิดที่แกนกลางของดวงอาทิตย์ ปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันคือการรวมกันของอะตอมของธาตุเบาได้อะตอมใหม่ที่มีมวลน้อยกว่ามวลรวมของอะตอมเริ่มต้น และมวลที่หายไปนั้นถูกเปลี่ยนเป็นพลังงาน
ดวงอาทิตย์มีความเป็นแม่เหล็ก นักวิทยาศาสตร์อธิบายความเป็นแม่เหล็กของสารในรูปแบบของสนามแม่เหล็ก ซึ่งบริเวณที่สนามแม่เหล็กมีผลจะรวมถึงอวกาศที่อยู่รอบ ๆ วัตถุแม่เหล็กนั้นด้วย สนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์จะเข้มมากที่บริเวณเล็ก ๆ บนผิวที่เราเรียบกว่าจุดมืด (sunspots) บนดวงอาทิตย์ บางครั้งจะมีการลุกจ้า (flares) และการปลดปล่อยก้อนมวลจากชั้นโคโรนา (coronal mass ejection) จากจุดมืดนี้ด้วย
การลุกจ้า (flares) เป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงมากเหตุการณ์หนึ่งในระบบสุริยะ และการปลดปล่อยก้อนมวลจากชั้นโคโรนา (coronal mass ejection) ซึ่งมีความรุนแรงมากกว่าการลุกจ้า การปลดปล่อยก้อนมวลครั้งหนึ่งอาจปล่อยมวลสารออกมามากถึง 20,000 ล้านตันสู่อวกาศ
ดวงอาทิตย์เกิดมาเมื่อประมาณ 4,600 ล้านปีที่แล้ว และยังมีเชื้อเพลิงมากเพียงพอที่จะอยู่ต่อไปอีก 5,000 ล้านปี หลังจากนั้นมันจะกลายเป็นดาวยักษ์แดง (red giant) และในที่สุดเมื่อชั้นบรรยากาศของมันหมดไป แกนกลางก็จะยุบตัวกลายเป็นดาวแคระขาว (white dwarf)
สรุปข้อมูลทางกายภาพของดวงอาทิตย์
รัศมี | 695,990 กิโลเมตร | 432,470 ไมล์ | 109 เท่าของรัศมีโลก |
มวล | 1.989 1030 กิโลกรัม | 4.376 1030 ปอนด์ | 333,000 เท่าของมวลของโลก |
พลังงานที่ดวงอาทิตย์ปล่อยออกมาต่อวินาที | 3.846 1033 erg/s | ||
อุณหภูมิที่ผิวของดวงอาทิตย์ | 5770 เคลวิน | 9,930 องศาฟาเรนไฮต์ | |
ความหนาแน่นที่ผิว | 2.07 x 10-7 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร | 1.6 x 10-4 เท่าของความหนาแน่นของอากาศ | |
องค์ประกอบที่ผิว | มวล ไฮโดรเจน 70% | มวล ฮีเลียม 28% | มวล อื่น ๆ (คาร์บอน,ไนโตรเจน,ออกซิเจน, ...) 2% |
อุณหภูมิที่ใจกลาง | 15,600,000 เคลวิน | 28,000,000 องศาฟาเรนไฮต์ | |
ความหนาแน่นที่ใจกลาง | 150 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร | 8 × เท่าของความหนาแน่นของทอง | |
องค์ประกอบที่ใจกลาง | มวล ไฮโดรเจน 35% | มวล ฮีเลียม 63% | มวล อื่น ๆ (คาร์บอน,ไนโตรเจน,ออกซิเจน, ...) 2% |
อายุ | 4.57 x 109 ปี |
โครงสร้างของดวงอาทิตย์
เราสามารถแบ่งโครงสร้างของดวงอาทิตย์ออกได้เป็น 2 ส่วนหลัก ๆ คือ
1. โครงสร้างภายในดวงอาทิตย์ (solar interior) ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
1.1 แกนกลาง (core)
1.2 เขตแผ่รังสี (radiative zone)
1.3 เขตการพา (convection zone)
รูปแสดงโครงสร้างภายในของดวงอาทิตย์ (solar interior)
Image credit: http://www.mhhe.com/physsci/astronomy/fix/student/images/17f01.jpg
2. ชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์ แบ่งออกได้เป็น 3 ชั้น (layers) คือ
2.2 โครโมสเฟียร์ (chromosphere)
2.3 โคโรนา (corona)
โดยที่ระหว่างชั้นโครโมสเฟียร์และชั้นโคโรนาจะมีชั้นบาง ๆ ที่เรียกว่า transition regions อยู่ด้วย
รูปแสดงชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์
click ที่ส่วนต่าง ๆ เพื่อเข้าสู่คำอธิบายในส่วนนั้น
รูปแสดงส่วนต่าง ๆ ของดวงอาทิตย์
Image credit: ttp://fusedweb.pppl.gov/CPEP/Chart_Pages/5.Plasmas/Graphics/Sun/Layers.gif
อ้างอิง
- Lecture note on Astrophysics by Prof. David Ruffolo
- http://fusedweb.pppl.gov/CPEP/Chart_Pages/5.Plasmas/SunLayers.html
- http://www.nasa.gov/worldbook/sun_worldbook.html
- http://solarscience.msfc.nasa.gov/index.html