ข่าวด้านอวกาศ และดาราศาสตร์
เดือนธันวาคม 2548
ไททัน ลมแรง ดินนุ่ม กับฟ้าผ่า
New View of Titan : Strong Winds, Soft Ground and Lightning
December 26th, 2005
Stardust Eye
หลังจากที่ยานสำรวจฮอยเกนส์สัมผัสพื้นดวงจันทร์ไททัน(Titan) ซึ่งเป็นดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์ เป็นเวลาเกือบหนึ่งปี พร้อมทั้งรายงานข้อมูลจำนวนมหาศาลกลับมาให้นักวิทยาศาสตร์ จนถึงวันนี้รายงาน 7 ชิ้น ถูกตีพิมพ์ไปแล้วในวารสาร Nature
ภาพถ่ายพื้นผิวดวงจันทร์บริเวณรอบๆ จุดลงจอด พบก้อนหินขนาด 10 - 15 เซนติเมตร ซึ่งคาดว่าประกอบด้วยน้ำแข็ง และสารประกอบสีดำ Credits: ESA/NASA/University of Arizona
ผิวของไททันถูกบดบังด้วยเมฆ(ในภาพที่ถ่ายขณะยานร่อนลงจอด) ขณะเดียวกันก็ไม่มีร่องรอยของอ่างหรือสระไฮโดรคาร์บอนเหลวตามที่คาดกันไว้ แต่ปรากฏแนวการเคลื่อนที่ของของเหลวรอบๆ สระและแนวชายฝั่ง ณ ที่ลาดชันบางแห่งก็มีรอยกัดเซาะของกระแสของเหลวด้วย
ภาพที่ถ่ายบริเวณจุดลงสู่พื้นแสดงก้อนหินก้อนกรวดบนที่ราบ พื้นดินคล้ายๆ กับโคลนเปียก ไม่ก็ทรายแห้งๆ (หรือชื้น) รอบๆ ตัวยานพื้นดินเต็มไปด้วยมีเทนเหลว มีสารประกอบอินทรีย์อยู่ทั่วไป เช่น cyanogen และ ethane ซึ่งไม่พบในชั้นบรรยากาศ นักวิทยาศาสตร์คาดว่ากระแสของเหลวคงพึ่งผ่านไปก่อนหน้าที่ยานสำรวจจะลงบริเวณนั้น
ภาพจำลองลำดับการลงสู่พื้นของยานฮอยเกนส์ บนดวงจันทร์ไททัน บริวารดาวเสาร์
Credits: C.Carreau / ESA
เป็นที่คาดกันมานานว่าก๊าซในชั้นบรรยากาศของไททันเคลื่อนที่เร็วกว่าความเร็วหมุนรอบตัวเองของมันเสียอีกหรือเรียกว่า Superrotation ดังเช่นที่เกิดบนดาวศุกร์ ข้อมูลจากฮอยเกนยืนยันสมมติฐานนี้ ด้วยความเร็วลมตรวจวัดที่ 75 ไมล์ เหนือพื้นผิว 270 ไมล์ต่อชั่วโมง แต่ที่ความสูง 62 ถึง 37 ไมล์ ความเร็วลมลดลงเกือบเป็นศูนย์ ซึ่งนำความสงสัยมาให้นักวิทยาศาสตร์
ภาพถ่ายจากยานฮอยเกนส์ขณะที่ระยะ 7 - 0.5 กิโลเมตร เหนือพื้น
เส้นประคือตำแหน่งที่ยานตรงกับพื้นขณะร่อนลงส่วนจุด X คือ จุดลงสู่พื้น
Credits: ESA/NASA/Univ. of Arizona
ชั้นบรรยากาศของไททันประกอบด้วยไนโตรเจนและมีเทนเป็นส่วนใหญ่แต่ก็ยังไม่อาจทราบแน่ชัดว่ามันมาจากที่ใด นอกจากนี้ยังพบก๊าซอาร์กอน 36 เล็กน้อย อัตราส่วนไอโซโทปคาร์บอนชี้ว่ามีการสูญเสียมีเทนออกจากบรรยากาศแต่คาดว่ามีแหล่งกำเนิดมีเทนอยู่ภายใต้ผิวดวงจันทร์เพื่อทดแทนมีเทนที่เสียไป แม้ว่าจะยังไม่พบก็ตาม นอกจากนี้ cyrovolcanoes ซึ่งเป็นของผสมระหว่างน้ำและแอมโมเนียที่ถูกปล่อยออกมาจากภูเขาไฟ อาจเป็นต้นกำเนิดไนโตรเจนและมีเทนบนผิวและบรรกาศไททันก็ได้
ในชั้นบรรยากาศพบสารประกอบอินทรีย์อย่าง amino imino และ nitrile ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการสร้างโปรตีนบนโลก สารเหล่านั้นจับตัวกันด้วยอิทธิพลจากอุณหภูมิ และลม ทำให้เกิดฝนสารอินทรีย์บนผิวดาว
อุณหภูมิที่ผิวเฉลี่ย -289 องศาฟาเรนไฮท์ ซึ่งเย็นพอที่จะรักษาสภาพมีเทนเหลว ณ ความสูง 870 ไมล์ ดวงจันทร์มีอุณหภูมิ -333 องศาฟาเรนไฮท์ และที่ความสูง 25 ไมล์ มีอุณหภูมิ -154 องศาฟาเรนไฮท์
นอกจากนี้ยังตรวจพบปฏิกิริยาทางไฟฟ้าคล้ายกับเมื่อเกิดฟ้าแลบ ฟ้าผ่า ที่ระยะ 37 ไมล์เหนือผิวดาว อันเป็นบริเวณที่ความเร็วลงต่ำเกือบเท่าศูนย์อีกด้วย
แปลโดย วัชราวุฒิ หน่อแก้ว ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
.......................................................
ภูเขาไฟประทุบนดวงจันทร์น้ำแข็ง
Ice Volcanoes Captured
December 26th, 2005
Stardust Eye
เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ยานอวกาศคาสสินี (Cassini) ซึ่งกำลังปฏิบัติภารกิจในวงโคจรรอบดาวเสาร์ ได้บินผ่านดวงจันทร์เอนเซลาดัส (Enceladus) ดวงจันทร์ที่เต็มไปด้วยน้ำแข็งของดาวเสาร์ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 500 กิโลเมตร แล้วหันกล้องกลับมาถ่ายภาพด้านมืดของมัน ภาพที่ได้เมื่อสังเกตขอบดวง ซึ่งถูกแสงอาทิตย์ จะเห็นแสงสีขาวพุ่งออกมาจากขอบดวงจันทร์ คาดว่าผิวดาวจันทร์กำลังพ่นน้ำแข็งขนาดเล็กเท่าฝุ่นผงออกไปในอวกาศ ปะปนเป็นส่วนหนึ่งไปกับวงแหวนดาวเสาร์ชั้น E โดยฝุ่นน้ำแข็งเหล่านั้นสามารถเคลือบผิวดวงจันทร์บริวารดวงอื่นๆ ของดาวเสาร์ได้
ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2548 จากดวงจันทร์ Enceladus จะเห็นรอยคล้ายลายเสือบนซีกใต้ของดวงจันทร์ Image
Credit: NASA/JPL/Space Science Institute
นักดาราศาสตร์ชี้ว่าภาพถ่ายดังกล่าวเป็นหลักฐานแสดงการมีอยู่ของภูเขาไฟน้ำแข็งซึ่งยังคงประทุอยู่บนดวงจันทร์ Enceladus นั่นหมายความว่า บนดวงจันทร์บริวารดาวเคราะห์อันห่างไกลดวงอาทิตย์ยังคงมีกิจกรรมทางธรณีวิทยาดำเนินอยู่
ภาพจำลองภูเขาไฟซึ่งถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็งบนดวงจันทร์ Enceladus http://www.lunexit.it/gallery/albums/userpics/10008/normal_Enceladus%20-%20artistic%20vision.jpg
จากการคาดการณ์ การประทุหรือตำแหน่งของภูเขาไฟนั้นมีกำเนิดมาจากบริเวณที่มีร่องรอยบนผิวคล้าย “ลายเสือ”(tiger strip) บนซีกดวงจันทร์ด้านใต้ ซึ่งชี้ว่า บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิอบอุ่น และมีการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาเกิดขึ้นใหม่กว่าเขตน้ำแข็งทางตอนเหนือ นอกจากนี้สืบเนื่องจากอุณหภูมิที่ค่อนสูงเมื่อเทียบกับส่วนอื่นๆ ของดวงจันทร์ทำให้โมเลกุลก๊าซในชั้นบรรยากาศ ณ บริเวณดังกล่าว มีพลังงานมากพอที่จะหนีออกจากแรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์ได้ ทำให้ชั้นบรรยากาศบริเวณซีกใต้ของดาวยังผอมบางกว่าบริเวณอื่นๆ อีกด้วย
แปลโดย วัชราวุฒิ หน่อแก้ว ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
......................................................
ดาวเคราะห์ขนาดเท่าดาวเนปจูน อาจพบได้ทั่วไปใกล้ดาวแคระแดง
Neptune-Size Planet Orbiting Common Star Hints at Many More
December 15th, 2005
ที่มา : www.space.com
Stardust Eyes รายงาน
http://www.ls.eso.org/lasilla/sciops/3p6/harps/
นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์มวลเท่าดาวเนปจูน (Neptune) โคจรดาวฤกษ์ธรรมดาๆ ทั่วไปในเอกภพ ดาวฤกษ์ดังกล่าวคือดาวแคระแดง ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ชนิดที่มีความสว่างต่ำกว่าดวงอาทิตย์ 50 เท่า ในจำนวนดาวฤกษ์ 100 ดวงที่ใกล้ระบบสุริยะที่สุด มี 80 ดวงเป็นดาวแคระแดง แต่นักดาราศาสตร์ก็ยังพบดาวเคราะห์เพียงสองดวงเท่านั้นทั้งที่สำรวจดาวแคระแดงมาแล้วกว่า 200 ดวง ขณะที่ดาวเคราะห์กว่าร้อยดวงสามารถพบได้ในดาวฤกษ์ชนิดอื่นๆ
ภาพจำลองดาวแคระแดง SO25400.5+165258 ซึ่งห่างจากโลก 7.8 ปีแสง อับแสงเสียจนมองไม่เห็นกระทั่งปี 2546 ดาวแคระแดงเป็นดาวฤกษ์ที่พบได้ทั่วไป
“การค้นหาของเราอาจชี้ว่าดาวเคราะห์สามารถพบได้บ่อยใกล้ดาวฤกษ์ขนาดเล็ก” Xavier Delfosse จากห้องทดลองดาราศาสตร์ฟิสิกส์แห่ง Grenoble ในประเทศฝรั่งเศส และผู้เขียนร่วมในงานบทความที่ข้องเกี่ยวกับงานวิจัยนี้ อธิบาย “มันบอกเราว่าดาวแคระแดงเป็นเป้าหมายในฝันสำหรับการค้นหาดาวเคราะห์นอกระบสุริยะ”
ดาวเคราะห์นอกระบบมีความสว่างต่ำกว่าดาวฤกษ์หลักจึงเป็นการยากที่จะถ่ายภาพดาวเคราะห์โดยตรง แต่ด้วยความเป็นระบบพหุวัตถุดาวฤกษ์จึงต้องเคลื่อนที่รอบศูนย์กลางมวล นั่นคือที่มาของการส่ายในภาพถ่ายหรือสเปคตรัมของแสงดาว http://vo.obspm.fr/exoplanetes/encyclo/pictures.html
ดาวฤกษ์เป้าหมาย GI 581 อยู่ห่างจากโลก 20.5 ปีแสง ภายในกลุ่มดาวคันชั่ง (Libra) มันมีมวลเพียงหนึ่งในสามของมวลดวงอาทิตย์ “การสำรวจครั้งก่อนๆ มองไม่เห็นดาวเคราะห์เนื่องจากความแม่นยำไม่เพียงพอ” Stephane Udry จากหอสังเกตการณ์เจนีวา และผู้เขียนร่วม กล่าวเสริม
ดาวเคราะห์ดังกล่าวถูกค้นพบด้วยอุปกรณ์ HARPS ซึ่งติดตั้งกับกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.6 เมตร หอสังเกตการณ์ท้องฟ้าซีกใต้แห่งยุโรป (European Southern Observatory) ณ ลา ซิลลา ประเทศชิลี ดาวเคราะห์นอกระบบดวงนี้มีมวลมากกว่าโลก 17 เท่า หรือเท่ากับดาวเนปจูน มันโคจรใกล้ดาวฤกษ์หลักด้วยคาบ 5.4 วัน ด้วยระยะห่าง 6 ล้านกิโลเมตร ในขณะที่ดาวพุธ (Mercury) ห่างจากดวงอาทิตย์ 58 ล้านกิโลเมตร และโคจรรอบดวงอาทิตย์ 88 วัน แม้ว่าดาวฤกษ์หลักจะอับแสงแต่ที่ดาวเคราะห์ก็มีอุณหภูมิสูงถึง 150 องศาเซลเซียส มันไม่ใช่ดาวเคราะห์นอกระบบที่เล็กที่สุดเท่าที่เคยค้นพบ ดาวเคราะห์ที่เล็กที่สุดโคจรรอบดาวฤกษ์ธรรมดามีมวล 7.5 เท่าของโลก ส่วนดาวเคราะห์ที่มวลใกล้เคียงกับโลกนั้นโคจรรอบพัลซาร์
HARPS:High Accuracy Radial velocity Planet Searcher อุปกรณ์ตรวจวัดความเร็วเชิงรัศมีของดาวฤกษ์ซึ่งจะชี้ให้เห็นว่าดาวฤกษ์ดวงนั้นๆ มีการส่ายหรือเคลื่อนที่รอบจุดศูนย์กลางมวลของระบบดาวหลายดวงอย่างไร
http://www.ls.eso.org/lasilla/sciops/3p6/harps/
ดาวเคราะห์ดวงนี้ถูกค้นพบโดยการโคลงอันเนื่องมาจากแรงโน้มถ่วงของดาวฤกษ์หลัก ดังนั้นภาพถ่ายตัวจริงของมันจึงไม่มี แต่ผลงานวิจัยนี้กำลังจะตีพิมพ์ใน Journal Astronomy and Astrophysics
ดาวเคราะห์ขนาดเท่าโลกที่โคจรรอบดาวฤกษ์ทั่วไปอาจจะถูกค้นพบมากขึ้นหากเทคโนโลยีได้รับการพัฒนาต่อเนื่องในอนาคต นักทฤษฎีคาดว่า มีดาวเคราะห์เท่าโลกอยู่ 30 พันล้านดวง รอให้มนุษย์ค้นหาอยู่
แปลโดย วัชราวุฒิ หน่อแก้ว ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
...............................................................
10 ปี ยานโซโฮ กับการเผยความลับดวงอาทิตย์
A Decade of Discovery: Sun-Watching SOHO Turns Ten
December 15th, 2005
ที่มา : www.space.com
Stardust Eyes รายงาน
ยานอวกาศ SOHO ปฏิบัติหน้าที่ครบ 10 ปี ในวันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม ตลอดอายุการทำงานที่ผ่านมา ยานอวกาศผู้เฝ้ามองดวงอาทิตย์ลำนี้เคยรอดจากเหตุการณ์อันตรายที่ส่งผลต่อความเป็นตายของยานมาแล้วกว่าสามครั้ง ที่สำคัญมันยังสามารถทำงานได้ต่อไปแม้ว่าจะถูกกำหนดให้ทำงานเกินกำหนดมา 8 ปีเท่านั้น นอกจากนี้ภารกิจพิเศษที่ได้มาโดยไม่ได้วางแผนมาก่อนคือ การที่มันสามารถค้นพบดาวหางได้เกินกว่า 1000 ดวง และสนับสนุนระบบคาดการณ์สภาพอวกาศได้ดีอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในช่วงทศวรรษก่อนหน้า
ภาพดวงอาทิตย์แสดงความปั่นป่วนบนผิว ภาพนี้ถ่ายโดยนำภาพถ่ายในช่วงรังสีอัลตราไวโอเลตหลายภาพมาประกอบกัน
Credit: NASA/ESA/SOHO
Solar and Heliospheric Observatory : SOHO เป็นโครงการร่วมระหว่าง NASA และองค์การอวกาศยุโรป (ESA) ทั้งข้อมูลและภาพถ่ายล้วนช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ทำความเข้าใจกระบวนการทำงาน พฤติกรรม โครงสร้างภายใน ชั้นบรรยากาศ และการเร่งลมสุริยะ ของดวงอาทิตย์ได้ดียิ่งขึ้น
ยานลำนี้ทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่า ท่ามกลางสภาพอวกาศอันเลวร้ายนั้น มันทนอยู่ได้อย่างไร เมื่อปี 2541 ตัวยานสูญเสียการควบคุม สามเดือนต่อมาไจโรสโคปซึ่งควบคุมการทรงตัวและกำหนดตำแหน่งยานเกิดความเสียหาย และในปี 2546 จานรับสัญญาณเกิดความเสียหายจนต้องพิจารณาว่าจะให้มันทำงานต่อไปหรือไม่
งานเด่นของ SOHO คือการบันทึกภาพ CMEs ซึ่งเป็นกลุ่มอนุภาคมีประจุพลังงานสูงที่สามารถก่อความเสียหายกับดาวเทียม โรงผลิตและสายส่งกระแสไฟฟ้าบนโลก Credit: NASA/ESA/SOHO
อย่างไรก็ดี สิบปีมานี้สิ่งที่ยาน SOHO มอบให้กับมนุษย์ ได้แก่
- ตรวจวัดข้อมูลและรายละเอียดให้ผิวดวงอาทิตย์ได้แม่นยำและละเอียด
- ถ่ายภาพแรกที่แสดงความปั่นป่วนในเขตการพาพลังงาน(Convection Zone) และโครงสร้างของจุดดับ(Sunspot) ภายใต้ผิวดวงอาทิตย์
- ถ่ายภาพด้านไกลของดวงอาทิตย์ได้ รวมไปถึงบริเวณที่ปั่นป่วนซึ่งกำลังจะหันเข้าหาโลก
- ค้นพบกลไกที่ปลดปล่อยพลังงานภายในบรรยากาศชั้นโคโรนาจนทำให้โคโรนามีอุณหภูมิสูงกว่าอุณหภูมิผิวนับ 100 เท่า
- เฝ้าตรวจวัดพลังงานที่แผ่ออกมาจากดวงอาทิตย์(Solar constant) รวมไปถึงการแปรผันของการแผ่รังสีอัลตราไวโอเลต ซึ่งสำคัญต่อการทำความเข้าใจผลกระทบจากการแปรเปลี่ยนของดวงอาทิตย์ต่อสภาพอุตุนิยมวิทยาบนโลก
- แยกแยะแหล่งกำเนิดและกลไกการเร่งลมสุริยะ
สิ่งสำคัญหนึ่งที่ SOHO ให้มาคือ ข้อมูลที่นำไปสู่การค้นพบว่า การประทุอย่างต่อเนื่องของก๊าซมีประจุ (coronal mass ejections : CMEs) จากดวงอาทิตย์ ทำให้เกิด “ทางด่วน” ของอนุภาคพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์ เมื่ออนุภาคเหล่านั้นเดินทางมาย่อมก่อให้เกิดอันตรายต่อดาวเทียม และนักบินอวกาศที่อยู่ภายนอกความคุ้มครองของสนามแม่เหล็กโลก
ดาวหาง NEAT บินผ่านหน้ากล้องของ SOHO เมื่อปี 2546 และดาวหางใหม่ๆ หลายดวงถูกค้นพบด้วยภาพถ่ายลักษณะนี้
Credit: NASA/ESA/SOHO
ข้อมูลจากยาน SOHO เป็นข้อมูลที่อนุญาตให้ทุกคนเข้าถึงอย่างเสรีบนเครือข่ายอินเตอร์เนต ทุกคนบนโลกสามารถใช้ภาพถ่ายจากยานได้ และนั่นทำให้สามารถค้นพบดาวหางได้กว่า 1000 ดวง
เดิมทียานลำนี้ถูกออกแบบให้ใช้งานเพียงสองปี แต่ผลสัมฤทธิ์ทางวิทยาศาสตร์กลับพิสูจน์ความสำคัญของมันจน NASA ต้องอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อให้ยานสามารถทำงานต่อไปได้ครบรอบ 11 ปี อันเป็นคาบการแปรเปลี่ยนของดวงอาทิตย์ ซึ่งปัจจุบันดวงอาทิตย์เข้าใกล้ช่วงที่สงบที่สุดในรอบ 11 ปีแล้ว
แปลโดย วัชราวุฒิ หน่อแก้ว ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
........................................................
นักวิทย์คาด!! ฝนดาวตกสิงโตปีนี้ ไม่มากมายเหมือนเดิม
The Moonlit Leonids : Modest Meteor Shower Expected
December 1st, 2005
ที่มา : www.space.com
Stardust Eyes รายงาน
หลายคนทีเดียวที่ได้ยินข่าวปรากฏการณ์ฝนดาวตก มักจินตนาการเห็นภาพท้องฟ้ายามค่ำคืนที่ดารดาษไปด้วย ลูกไฟสุกสว่างพุ่งผ่านชั้นบรรยากาศโลกเข้ามาพร้อมกับเปล่งแสงเป็นทางยาวบนท้องฟ้า ราวกับฝนตาก อย่างเช่นฝนดาวตกประจำปี ลีโอนิดส์ (Leonids) ในเดือนพฤศจิกายน โดยเฉพาะ ในปีคริสตศักราช 1833 และ 1966 ที่พบจำนวนฝนดาวตกถึง หลายหมื่นดวงต่อชั่วโมง
ฝนดาวตกสิงโตที่น่าประทับใจในช่วงไม่กี่ปีนี้ คือเมื่อปี 2542 2544 และ 2545 ที่มีปริมาณลูกไฟไม่กี่พันดวงต่อชั่วโมง
ดาวหาง Tempel Tuttle ต้นกำเนิดของฝนดาวตกลีโอนิดส์
credit : http://www.gsi.it/astronomia/comets/TempelTuttle/tt001.jpg
ในปีนี้ ฝนดาวตกลีโอนิดส์จะมีความหนาแน่นสูงที่สุดในในช่วงหลังเที่ยงคืนวันที่ 17 พฤศจิกายน ทว่าปีนี้จำนวนฝนดาวตกจะลดลงเมื่อเทียบกับปีกลายค่อนข้างมากมาก นอกจากนี้แสงจันทร์วันเพ็ญจะกลับแสงจากดาวตกเสียหมด
ฝนดาวตกลีโอนิดส์ ได้ชื่อตามจุดศูนย์กลางกระแสดาวตก ซึ่งดูเสมือนว่าดาวตกพุ่งออกมาจากจุดใดจุดหนึ่งในขอบเขตกลุ่มดาวลีโอ(สิงโต) ดาวตกดังกล่าวเกิดจาก เศษฝุ่น น้ำแข็ง หรือชิ้นส่วนจากดาวหาง Tempel-Tuttle ที่หลุดออกมาขณะดาวหางโคจรผ่านเข้ามาในระบบสุริยะด้านใน ทุกๆ 33 ปี เศษดาวหางเหล่านั้นถูกทิ้งไว้ตามรายทาง เมื่อโลกโคจรตัดเข้าไปในกลุ่มฝุ่น น้ำแข็ง ดังกล่าว แรงโน้มถ่วงโลกก็จะดึงดูดเอาธุลีดาวเหล่านั้นตกลงมาเสียดสีกับบรรยากาศโลกปรากฏเป็นดาวตกนับร้อยพันดวง และยิ่งโลกโคจรตัดเข้าไปในเส้นทางของดาวหางได้ใกล้เคียงกับเวลาที่ดาวหางพึ่งตัดผ่านไปสดๆ ร้อนๆ เท่าใด จำนวนดาวตกก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น
เมื่อโลกโคจรตัดผ่านเส้นทางของดาวหาง Tempel Tuttle (สีเขียว) เมื่อปี 2541 http://www.ncsm.city.nagoya.jp/astro/old/leoCG/leoCG_e.html
ฝนดาวตกสิงโตปีนี้คาดว่าจะมีจำนวนน้อยกว่าปกติ โดยเฉพาะความเป็นไปได้ที่จะตัดผ่านแนวฝุ่นเพียงแนวเดียวเท่านั้น นักวิทยาศาสตร์คาดว่าแนวฝุ่นที่โลกกำลังจะตัดผ่านนั้น คือแนวฝุ่นที่ถูกทิ้งไว้ตั้งแต่ คริสต์ศักราช 1167 หรือ พ.ศ. 1710 ในวันที่ 21 พฤศจิกายน เวลา 1:00 นาฬิกา ตามเวลามาตรฐานสากล ( 8:00 น. ในประเทศไทย) ซึ่งบริเวณที่จะเห็นฝนดาวตกชุกในช่วงเวลาดังกล่าวคือ ทวีปยุโรป แอฟริกา เอเชียตะวันตก แต่ก็ยังมีเพียง 12 ดวงต่อชั่วโมงหรือน้อยกว่านั้น รวมไปถึงแสงรบกวนจากดวงจันทร์จากกลุ่ม Taurus (วัว,ราศีพฤษภ) ยิ่งในบริเวณที่ปีต้นไม้ สิ่งปลูกสร้าง หรือแหล่งกำเนิดมลพิษทางแสงอย่างไฟประดิษฐ์บนถนนตลอดจนตัวเมืองใหญ่ ล้วนลดทอนโอกาสที่จะมองเห็นดาวตก
แผนผังแสดงเส้นทางการเคลื่อนที่ของดาวหาง Tempel Tuttle จะเห็นว่าดาวหางดวงนี้ค่อยๆ เคลื่อนห่างจากโลกออกไป เรื่อยๆ http://www.ncsm.city.nagoya.jp/astro/old/leoCG/LeoCG05.gif
กลุ่มดาวสิงโตจะไม่ปรากฏออกมาทั้งหมดจนกว่าจะเที่ยงคืนไปสักหนึ่งชั่วโมง ซึ่งนั่นจะเป็นเวลาที่ดีที่สุดในการเฝ้าชมดาวตก ที่มีความเร็วราว 75 กิโลเมตรต่อวินาที เร็วพอที่จะทำให้เกิดความร้อนขณะฝุ่นดาวหางเสียดสีกับชั้นบรรยากาศลุกไหม้สุกสว่างเป็นทางยาว
แปลโดย วัชราวุฒิ หน่อแก้ว ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
...................................................................................................
น้ำในสถานะของเหลวอาจพบได้บนดาวอังคาร
Water Could Stay Liquid on Mars
December 1st, 2005
ที่มา : www.space.com
Stardust Eyes รายงาน
จากแนวชายฝั่งของ Salty Sea ไปจนถึงก้นหุบเขาลึก ผิวดาวอังคารล้วนมีร่องรอยทางธรณีวิทยาที่ชี้ว่ามีน้ำในสถานะของเหลวเคยอยู่บนผิวดาว จากการค้นพบแร่ธาตุสัณฐานทรงกลมขนาดเล็กที่เรียกว่า Blueberry ไปจนถึงน้ำในสถานะของแข็งบริเวณขั้วน้ำแข็งเหนือใต้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์มั่นใจว่า อาจมีน้ำในสถานะของเหลวหลงเหลืออยู่บนผิว
ร่องรอยที่แสดงให้เห็นว่าเคยมีน้ำไหลผ่านในบริเวณนี้ของดาวอังคารเมื่อนานมาแล้ว ภาพนี้ถ่ายด้วยกล้องจุลทรรศน์ซึ่งติดตั้งบนรถสำรวจดาวอังคาร Opportunity CREDIT: NASA/JPL
แนวคิดเดิมอธิบายว่า ด้วยสภาพอากาศในปัจจุบันบนผิวดาวแดง ทั้งความกดอากาศที่ต่ำกว่าโลกนับร้อยเท่า และอุณหภูมิอันแสนต่ำ น้ำจะไม่สามารถทนอยู่ได้ในสถานะของเหลว เพราะน้ำแข็งทีผิวดาวจะสามารถเปลี่ยนสถานะเป็นก๊าซได้ในเวลาไม่ถึงวินาทีด้วย โดยไม่ผ่านสถานะของเหลวก่อน
แต่ทว่า ผลงานวิจัยจากกลุ่มนักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Arkansas กลับชี้ว่า น้ำในสถานะของเหลวสามารถคงอยู่บนผิวดาวได้ช่วงหนึ่ง และนานกว่าที่เคยคาด ขณะที่มันเป็นน้ำเค็ม
ด้วยการใช้ห้องจำลองสภาพแวดล้อมดาวเคราะห์ ซึ่งทำจากแทงค์ที่ถูกควบคุมสภาพบรรยากาศ อุณหภูมิ และความดัน เลียนแบบดาวอังคาร กลุ่มวิจัยพบว่า น้ำเกลือเมื่ออยู่ในห้องจำลองสภาพบรรยากาศที่คล้ายดาวอังคารสามารถคงอยู่ในสถานะของเหลวเป็นระยะเวลาหนึ่ง
กรวดลูกทรงกลม ได้ชื่อว่า Blueberries ในภาพถ่ายจากยาน Opportunity อันเป็นหลักฐานอีกชิ้นที่แสดงว่าเคยมีน้ำบนดาวอังคาร NASA/JPLCornell/USGS
ขณะที่น้ำบริสุทธิ์จะเปลี่ยนสถานะเป็นของแข็งที่อุณหภูมิ ศูนย์องศาเซลเซียส ส่วนน้ำที่ผสม เกลือโซเดียมคลอไรด์ และเกลือแคลเซียมคลอไรด์ (ในการทดลอง กลุ่มวิจัยเลือกใช้เกลือทั้งสองชนิด) สามารถคงสภาพของเหลวอยู่ได้ จนถึงอุณหภูมิ -21 และ -50 องศาเซลเซียส ตามลำดับ
เนื่องจากน้ำผสมเกลือสามารถอยู่ในสถานะของเหลว ณ อุณหภูมิ ต่ำกว่าศูนย์องศา ดังนั้นมันจึงไม่กระโดดจากสภาพของแข็งไปสู่สภาพก๊าซทันที เหมือนน้ำบริสุทธิ์ อุณหภูมิเฉลี่ยของดาวอังคารอยู่ระหว่าง -125 ถึง 28 องศาเซลเซียส ณ ระดับความสูง และเวลาต่างๆ กันไป
ภาพจำลองหากดาวอังคารเคยมีน้ำท่วมท้น บริเวณ Isidis Planitia บนดาวอังคาร เมื่อ 3.5 พันล้านปีก่อน
http://home-1.worldonline.nl/~veenen/terragen/mars/mars57.html
กุญแจสำคัญที่ทำให้ของเหลวระเหยกลายเป็นไอเกิดขึ้นเมื่อโมเลกุลของเหลวที่ถูกกระตุ้น ชนกันและกันจนหลุดออกจากผิว กลายเป็นโมเลกุลก๊าซ วิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกันการระเหยคือลดความร้อนของของเหลวเสีย ตัวอย่างเช่น น้ำในถ้วยที่วางทิ้งไว้นอกร่มอาคาร ในช่วงฤดูร้อนจะระเหยเร็วกว่าในช่วงกลางฤดูหนาว
รถสำรวจดาวอังคาร Opportunity ของนาซาพบหลักฐานว่ามีน้ำเค็มในสถานะของเหลวอยู่ลึกลงไปเล็กน้อยภายใต้ผิวดินดาวเคราะห์แดง
ดังนั้นเพื่อให้งานวิจัยสมบูรณ์พวกเขาจะทดสอบการเปลี่ยนสถานะของน้ำแข็งเป็นของเหลวภายในผิวดินที่จำลองมาจากผิวดินบนดาวอังคาร ภายในสภาวะแวดล้อมที่ใกล้เคียงดาวอังคารที่สุด
แปลโดย วัชราวุฒิ หน่อแก้ว ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
[home] [about us] [staff members] [alumni] [news] [articles & presentations] [research papers] [Princess Sirindhorn neutron monitor] [FAQs] [glossary] [links] [contact us] [academic activities]